หน้าแรก เขียนใบสมัครงาน ลงโฆษณางาน ค้นหาใบสมัครงาน คู่มือการใช้งาน Menu

สนใจลงโฆษณา โทร. 02-275-1900, 02-612-4900, 038-395000

space
   ค้นบ่อย : หางานบัญชี, หางานธุรการ, หางานจัดซื้อ, หางานผู้จัดการ, หางานขับรถ, หางานบุคคล, หางานคลังสินค้า, หางานครู, หางานวิศวกร, หางานเขียนแบบ, หางานคีย์ข้อมูล, หางานการตลาด, หางานโรงแรม, หางานสิ่งแวดล้อม, หางานคอมพิวเตอร์, หางาน Programmer, หางานประชาสัมพันธ์, หางานช่าง, หางานสถาปนิก
เรื่อง สงครามโลก 1
เขียนโดย ศิริศักดิ์

Rated: vote
by 129 users

คุณคิดอย่างไรกับเรื่องนี้?

 




 

สงครามโลกครั้งที่ 1

มหาสงคราม หรือ สงครามโลกครั้งที่ 1 ระเบิดออกมาในยุโรปเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ.1914แต่ละฝ่ายก็กล่าวหาซึ่งกันและกัน ทางฝ่ายเยอรมันประกาศว่ามีการซ่องสุมรวมหัวกันของฝ่ายตรงข้ามเพื่อปิดล้อมเยอรมัน ในขณะที่ฝ่ายพันธมิตร (อังกฤษกับฝรั่งเศส) กล่าวหาว่าเกิดจากการบุกรุกของเยอรมัน เป็นเวลาถึง 20 ปีที่ยุโรปตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด เยอรมันมีความเข้มแข็งและเจริญรุ่งเรืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต ฝรั่งเศสยังคงต้องแบกรับความขมขื่นที่ต้องสูญเสียแคว้นอัลซัค - ลอร์เรน ในปี ค.ศ. 1817 ออสเตรียกำลังมองหาลู่ทางที่จะเข้าไปยึดครองบริเวณ บอลข่าน เซอร์เบียเป็นศัตรูที่ร้ายกาจต่อออสเตรีย อังกฤษมหาอำนาจทางท้องทะเล ซึ่งเคยให้ความสนใจไม่มากนักในการแก่งแย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือทวีปยุโรป ต้องตื่นตระหนกเมื่อเห็นกองทัพเรือของเยอรมันที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้เยอรมันแยกความเป็นใหญ่ทางทะเลไปจากอังกฤษ อังกฤษจึงใช้นโยบายสร้างความสนิทกับฝรั่งเศสให้มากขึ้น และพยายามเป็นมิตรกับรัสเซีย ซึ่งบรรยากาศเช่นนี้หมายความว่า ยุโรปแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอำนาจ คือ กลุ่มไตรพันธมิตร (Triple Alliance) กลุ่มนี้ประกอบด้วย เยอรมัน ออสเตรีย - ฮังการี และ อิตาลี และกลุ่มไตรภาคีระหว่างประเทศ (Triple Entente) กลุ่มนี้ประกอบด้วย ฝรั่งเศส รัสเซีย และ อังกฤษ พร้อมกับอันตรายที่แขวนอยู่เหนือทวีปยุโรปหากเกิดการทะเลาะขัดแย้งระหว่างประเทศของแต่ละฝ่าย นั้นก็ย่อมทำให้สมาชิกของแต่ละกลุ่มกระโจนเข้าสู่สงครามไปด้วย ในสมัยที่ลัทธิชาตินิยม ความตกใจจากข่าวทางหนังสือพิมพ์ และ การเผชิญหน้ากับปรปักษ์ กลายมาเป็นวิถีทางประจำวัน การเกิดสงครามย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สงครามมักจะเป็นวิธีการของการแก้ปัญหาและภายหลังที่ยุโรปไม่มีสงครามโดยทั่วๆไปนาน 99 ปีมาแล้ว ความตื่นเต้นและความรุนแรง จึงอาจซ่อนตัวอยู่ลึกๆ มาช้านาน ในปี ค.ศ.1914 ไม่มีใครสักคนรู้เรื่องสงครามโหดและยาวนาน ระหว่างประเทศมหาอำนาจทางอุตสาหกรรม และยุโรปมีความรู้สึกอยู่เสมอว่าการต่อสู้เพื่อกษัตริย์และประเทศชาติถือเป็นวีรกรรม ดีกว่านั่งอยู่เฉยๆ เมื่อไม่ได้รับความยุติธรรมหรือถูกดูหมิ่น ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นที่เชื่อกันทั่วๆไปว่าความสำเร็จในการทำสงครามคือมาตรการของการยืนอยู่ของประเทศชาติ ในโลกนี้ และเป็นวิธีการทดสอบสูงสุดของความเป็นมนุษย์ ในบรรยากาศเช่นนี้เหตุบังเอิญใดๆ ย่อมทำให้สงครามระเบิดออกมาได้ และเรื่องนี้ก็ได้เกิดขึ้นมาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1914 ในเมืองเล็กๆ ชื่อซาราเยโว ซึ่งอยู่ในแคว้นบอสเนีย ถิ่นที่อยู่ของชาวเซอร์เบีย - โครเตีย ซึ่งออสเตรียได้ผนวกเอามาเป็นดินแดนของตนในปี ค.ศ.1908 ในวันนั้น อาร์ดุ๊ค ฟรานซ์ เฟอร์ดินันด์ รัชทายาทบัลลังก์กษัตริย์ของออสเตรีย ถูกนักศึกษาหนุ่มชาวเซอร์เบียใช้ปืนยิงสิ้นพระชนม์ รัฐบาลออสเตรึยแน่ใจว่าแผนการก่ออาชญากรรมครั้งนั้นได้วางแผนทั้งหมดในเซอร์เบีย จึงตัดสินใจว่าโอกาสจะบดขยี้ประเทศเล็กๆอย่างเซอร์เบียได้มาถึงแล้ว เมื่อมั่นใจว่าเยอรมันซึ่งเป็นพันธมิตรต้องสนับสนุนการปฏิบัติของตน ออสเตรียจึงส่งคำขาดไปยังเซอร์เบีย เรียกร้องเรื่องต่างๆซึ่งเท่ากับเป็นการลบหลู่ เหยียดหยามเซอร์เบียทั้งหมด เป็นเรื่องน่าแปลกประหลาด ซึ่งทางเซอร์เบียยอมรับคำขาดจาก ออสเตรียทั้งหมด ยกเว้นเพียงข้อเดียวและวิกฤติกาลดูเหมือนว่าจะผ่านพ้นไป แต่ออสเตรียกลับประกาศสงครามกับเซอร์เบียในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.1914 เป็นเวลาหนึ่งเดือนพอดี ภายหลังที่เฟอร์ดินันท์องค์รัชทายาทแห่งบัลลังก์กษัตริย์ของตนถูกนักศึกษาหนุ่มชาวเซอร์เบียยิงด้วยปืนสิ้นพระชนม์ที่เมืองซาราเยโว แคว้นบอสเนีย การตัดสินใจอย่างบ้าระห่ำครั้งนี้ยั่วยุให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่ พระเจ้าชาร์ นิโคลาสที่ 2 แห่งรัสเซีย ทรงมีความรู้สึกว่าเกียรติภูมิของประเทศชาติบังคับให้รัสเซียต้องให้ความช่วยเหลือเซอร์เบีย ดังนั้น พระเจ้าชาร์ นิโคลาส จึงทรงบัญชาระดมพล เกณฑ์ทหารนับล้านคนส่งไปตามเส้นทางรถไฟไปยังจุดยุทธศาสตร์ตามที่คณะเสนาธิการทหารระบุไว้ เมื่อรัสเซียเคลื่อนกำลังทหาร เยอรมันก็ติดตามสถานการณ์และปฏิบัตืการทำนองเดียวกัน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือออสเตรึยพัธมิตรของตน และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรดานายพลเยอรมันมีความเชื่อมั่นว่า การเตรียมตัวทำสงครามของรัสเซียใกล้ที่จะสมบรูณ์แล้ว เยอรมันรู้ดีว่าการทำสงครามกับรัสเซียหมายความว่าต้องทำสงครามกับฝรั่งเศสด้วย เพราะสองประเทศนี้เป็นพันธมิตรกัน เยอรมันมีแผนการที่จะจัดการกับสถานการณ์เช่นนี้ไว้แล้ว คือเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะต้องทำสงครามสองแนวหน้าพร้อมๆกัน เยอรมันจะต้องปราบศัตรูของตนประเทศใดประเทศหนึ่งเสียก่อน และประเทศนั้นจะต้องเป็นฝรั่งเศส ทั้งนี้เพราะรัสเซียมีอาณาเขตกว้างใหญ่ และจะต้องใช้เวลายาวนานกว่าที่จะเอาชนะกองทัพใหญ่โตของรัสเซีย เพื่อเอาดินแดนซึ่งจักรพรรดิเยอรมัน (และต่อมาเป็นนาซีเยอรมัน) ต้องการจากรัสเซียมาผนวกรวมเข้ากับเยอรมัน เพราะรัสเซียเป็นดินแดนที่มีความมั่งคั่งทางทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล ตามแผนการสงครามของเยอรมัน เยอรมันมีแผนการชิฟเฟ่น ซึ่งจัดเตรียมขึ้นมาในปี ค.ศ.1905 โดยนายพลฟอน ชิฟเฟ่น สาระสำคัญของแผนการรบของนายพลผู้นี้คือ เยอรมันต้องใช้กำลังรบรุนแรงผ่านเข้าไปในประเทศเบลเยี่ยมแล้วผ่านเข้าไปทางแนวป้องกันชายแดนของฝรั่งเศสแล้วโอบรอบเคลื่อนตัวเข้าไปในฝรั่ง-เศสเป็นรูปวงโค้งใหญ่ซึ่งจะโอบกรุงปารีสไว้ เมื่อปราบฝรั่งเศสได้เรียบร้อยแล้วกองทัพเยอรมันก็จะถูกส่งไปยังตะวันออกเพื่อปราบรัสเซียต่อไปอย่างรวดเร็ว โดยเดินทางไปตามเส้นทางรถไฟซึ่งได้จัดสร้างไว้สำหรับแผนการนี้เรียบร้อยแล้ว ถ้าหากอังกฤษเข้าแทรกแซงเยอรมันก็ไม่วิตก เพราะกองทัพทางทะเลของเยอรมันมีประสิทธิภาพมากพอที่จะปราบอังกฤษได้ “การเป็นภาคีระหว่างประเทศ” ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสไม่ใช้พันธมิตรทางทหารอย่างแน่ชัด รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษไม่เคยแสดงท่าทีให้เห็นอย่างแน่ชัดว่าอังกฤษจะรบถ้าหากฝรั่งเศสถูกโจมตี และจนกระทั่งถึงวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ.1914 อังกฤษก็ยังแถลงว่า กรณีพิพาทระหว่างออสเตรีย - เซอร์เบียไม่เกี่ยวข้องกับอังกฤษ ในสถานการณ์เช่นนั้นฝรั่งเศสได้แสดงตัวให้เห็นว่าพยายามสงบเสงี่ยมและระมัดระวังตัว เป็นที่แน่นอนว่าฝรั่งเศสกลัวเยอรมัน และช่วยรัสเซียสร้างโรงงานและเส้นทางรถไฟ การเคลื่อนไหวของฝรั่งเศสส่วนใหญ่มุ่งป้องกันตัวเองมากกว่า และฝรั่งเศสยังมีความเชื่อมั่นว่าเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง จะดึงอังกฤษเข้ามาอยู่ข้างฝรั่งเศสหากถูกโจมตี เมื่อรัสเซียระดมพล เยอรมันส่งคำขาดเรียกร้องให้รัสเซียหยุดการกระทำเช่นนั้น รัสเซียรู้ดีว่าหากปฏิบัติตามคำขาดของเยอรมันย่อมทำให้รัสเซียไม่สามารถป้องกันตัวเองได้จึงปฏิเสธในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ.1914 เยอรมันจึงได้ประกาศสงครามและตามแผนการชิฟเฟ่น เยอรมันจะต้องเอาชนะฝรั่งเศสก่อนเป็นอันดับแรก ดังนั้นในตอนเช้าของวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ.1914 กองทัพของเยอรมันจึงบุกเข้าไปในประเทศเบลเยี่ยม การไม่เคารพความเป็นกลางของประเทศเล็กๆอย่างประเทศเบลเยี่ยม ทำให้ประเทศอังกฤษกระโจนเข้าร่วมในสงครามอีกประเทศหนึ่ง รัฐบาลพรรคลิเบอรัลของอังกฤษขณะนั้น ซึ่งมีผู้นำในสงครามโลกครั้งต่อไปอยู่สองคนคือ เดวิดลอยด์ ยอร์ช และวินสตัน เชอร์ชิลล์ กำลังให้ความสนใจปัญหาของชาวไอริชภายในประเทศมากกว่าที่จะสนใจความขัดแย้งในบริเวณบอลข่าน และไม่สามารถมองหาเหตุผลที่อังกฤษจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย อย่างไรก็ดีเมื่อเยอรมันรุกรานเบลเยี่ยมไม่ใช่เรื่องที่ต้องการช่วยฝรั่งเศสหรือต้องการทำลายเยอรมันที่ทำให้อังกฤษต้องจับอาวุธ แต่เป็นเพราะความเห็นใจ “เบลเยี่ยมประเทศเล็กๆที่กล้าหาญ” ซึ่งความเป็นกลางได้รับการคุ้มครองจากสนธิสัญญาแห่งลอนดอน ปี ค.ศ.1839 ตามสนธิสัญญาฉบับนี้ประเทศมหาอำนาจในยุโรปหลายประเทศ รวมทั้งปรัสเซียได้ค้ำประกันความเป็นกลางนิรันดรของประเทศเบลเยี่ยม มีเหตุผลอะไรที่ทำให้มหาอำนาจ 5 ประเทศทำสงครามกันครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นการยุติการครองความเป็นใหญ่ทางการเมือง เศรษฐกิจ และทหาร ของยุโรปตะวันตกต่อบริเวณส่วนที่เหลือของโลกเรื่องนี้หาเหตุผลได้ แต่เหตุใดประเทศอื่นๆจึงเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งแรกนี้ด้วย ? เรื่องที่สร้างความแปลกใจให้กับทุกประเทศ โดยเฉพาะเยอรมันก็คือประเทศในจักรวรรดิอังกฤษได้เข้าร่วมกับอังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่แสวงหาผลประโยชน์จากประเทศเหล่านั้นเอง เรื่องนี้มีคำอธิบายเพียงอย่างเดียวคือประเทศเหล่านั้นอยู่ข้างอังกฤษ เพราะความจงรักภักดีต่ออังกฤษหรือไม่ก็คำนึงถึงความปลอดภัยของประเทศของตน ถ้าอังกฤษต้องแพ้สงคราม อิตาลีแสดงตัวออกมาให้เห็นแต่ภายนอกว่าเป็นพันธมิตรกับกลุ่มอำนาจกลาง (Central Power) คือประเทศเยอรมันกับออสเตรีย - ฮังการี อยู่ขณะหนึ่ง แต่ไม่นานก็หันไปเข้ากับฝ่ายพันธ-มิตรในปี ค.ศ.1915 เพราะประเทศอิตาลีได้สัญญาว่าจะได้ส่วนแบ่งดินแดนที่จะแย่งมาจากออส - เตรีย ประเทศตุรกีนั้นก่อนสงครามเอาใจเยอรมันอย่างมากเกลียดชังรัสเซียและระแวงสงสัยกับความทะเยอทะยานของอังกฤษและฝรั่งเศสที่เสาะแสวงหาผลประโยชน์ในตะวันออกกลาง ตุรกีจึงเข้าร่วมกับกลุ่มอำนาจกลาง สหรัฐฯนั้นในที่สุดก็เข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตรในปี ค.ศ.1917 ทั้งนี้ก็เพราะว่าชัยชนะของเยอรมันย่อมหมายถึงเผด็จการทางทหารในทวีปยุโรป อนึ่งการโฆษณาของฝ่ายพันธมิตรช่วยเบนความเห็นของประชาชนชาวอเมริกัน นอกจากนั้นกองทัพทางทะเลของเยอรมันก็ยังจมเรือพานิชย์ของสหรัฐอยู่เรื่อยๆ และเยอรมันยังเสนอให้เอารัฐเท็กซัสและอริโซนาของสหรัฐคืนให้กับเม็กซิโก หากว่าเม็กซิโกยอมสนับสนุนเยอรมัน เรื่องราวเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้สหรัฐเร่งตัดสินใจที่จะกระโจนเข้าสู่สงครามปราบเยอรมัน บัลแกเรียนั้นเกลียดชังเซอร์เบียเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเยอรมัน กรีซนั้นถูกผลักดันให้เข้าไปอยู่กับค่ายพันธมิตรเพราะฝรั่งเศสและอังกฤษ โรมาเนียเข้ามาอยู่ค่ายเดียวกับกรีซเพราะหวังว่าจะได้ส่วนแบ่งอย่างง่ายๆ ส่วนเยอรมันก็ประกาศสงครามกับโปรตุเกส เพราะว่าโปรตุเกสให้ความช่วยเหลือเรือรบของฝ่ายพันธมิตร สเปนนั้นเห็นวิธีที่ดีที่สุดก็คือการเป็นกลางเหมือนอย่างสวิตเซอร์แลนด์และกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวียและในที่สุดญี่ปุ่นมิตรของอังกฤษมาตั้งแต่ ค.ศ.1902 ก็เข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตรทั้งนี้ก็เพราะว่าญี่ปุ่นต้องการอาณานิคมของเยอรมันในจีนและแปซิฟิค เกือบทุกคนต้อนรับสงครามด้วยความกระตือรือร้นในความรักประเทศชาติของตน และมีความคิดว่าสงครามใช้เวลาไม่นานก็คงยุติลง ทำให้คิดว่าเงินทองและความพังพินาศของการค้าระหว่างประเทศย่อมมีมากมหาศาลจนประเทศต่างๆที่เข้าร่วมสงครามไม่อาจเข้าร่วมสงครามได้ยาวนาน ในสมัยก่อนปรัสเซียเคยปราบออสเตรียและฝรั่งเศสโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ และในอดีตอีกเช่นกันที่โดยปกติแล้วทางฝ่ายรัฐบาลจะรีบสงบศึกเป็นเวลานานก่อนที่ประชาชนของประเทศนั้นๆจะหมดแรงหรือพบกับหายนะ การคาดหมายเช่นนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าผิดพลาดในสงครามครั้งนี้ พลังที่สำคัญอยู่ที่ประเทศอุตสาหกรรมซึ่งประเทศเหล่านี้มีขีดความสามารถในการผลิต และประเทศเหล่านี้ผลิตยุทธปัจจัยเพื่อสงครามได้อย่างต่อเนื่อง และยังมีความสามารถดึงประชาชนจำนวนนับล้านๆคนเข้าประจำกองทัพ และถ้าหากว่าการระดมพลจำนวนมหาศาลเช่นนี้จะทำให้การผลิตอาหารและสินค้าต้องลดปริมาณลงไป(ซึ่งก็ลดลงไปจริงๆ)ประชาชนก็จะต้องรัดเข็มขัด เศรษฐกิจในสมัยปกติจะถูกเก็บเข้าลิ้นชักไว้ก่อน ทั้งนี้ก็เพราะรัฐบาลจะควบคุมอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ค่าจ้างแรงงาน ราคาสินค้า กำลังคนและโฆษณา ถึงกระนั้นก็ดีฝ่ายที่คาดหมายว่าสงครามจะไม่ยาวนานเกือบถูกต้อง กษัตริย์ไกเซอร์แห่งเยอรมันทรงตรัส “จงจำไว้ว่าเราสามารถเข้าถึงกรุงปารีสภายในสองสัปดาห์” ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1914 เมื่อทหารเยอรมันสองกองพลบุกเข้าไปในเบลเยี่ยม คำแถลงของพระเจ้าไกเซอร์ก็เกือบเป็นจริง แต่ก็ได้มีเหตุการณ์สองเรื่องขัดขวางเอาไว้ ก็คือทางประเทศเบลเยี่ยมทำการต่อต้านอย่างเหนียวแน่นเกินความคาดหมายของกองทัพเยอรมัน และทางรัสเซียเคลื่อนกำลังพลอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งทำให้นายพลมอลเก้ ขุนพลของเยอรมันต้องแบ่งกำลังทหารเพื่อไปป้องกันอันตรายจากรัสเซีย ผลที่เกิดขึ้นนั้นก็คือนายพลมอลเก้ไม่สามารถทุ่มกำลังทั้งหมดเพื่อพิชิตเบลเยี่ยม ให้ได้อย่างรวดเร็วตามแผนการชิฟเฟ่น และก็ไม่สามารถโอบล้อมฝรั่งเศสเป็นแนวโค้งกว้างพอตามแผนการที่ได้กำหนดเอาไว้ และเมื่อกองทัพเยอรมันบุกเข้าไปถึงฝรั่งเศส ซึ่งค่อนข้างล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ และเยอรมันยังต้องพบกับความแปลกใจที่ต้องพบกับการรบอย่างดีจากกองทัพอังกฤษ ซึ่งคอยสกัดกั้นการรุกคืบหน้าของกองทัพทหารเยอรมันที่เมืองมองส์ ปฏิบัติการของกองกำลังทหารอังกฤษเช่นนี้นั้นทำให้นายพลจอฟฟรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของฝรั่งเศสมีเวลาส่งกองกำลังตอบโต้เมื่อเยอรมันสำคัญผิดเคลื่อนกองทัพไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามแนวป้องกันกรุงปารีสแทนที่จะตั้งวงล้อมไว้ ดังนั้นกรุงปารีสจึงปลอดภัยจากการถูกโจมตีอย่างรุนแรงไปได้ ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญบางท่านเรื่องนี้เท่ากับว่าเยอรมันได้แพ้สงครามไปแล้วเพราะไม่เป็นไปตามแผนเผด็จศึกให้เสร็จสิ้นโดยรวดเร็วตามแผนการที่เยอรมันได้วางแผนเอาไว้ ในเดือนกันยายนกองทัพของเยอรมันได้ถอนตัวกลับไปตั้งกองทัพอยู่ทางเหนือของแม่น้ำ Aisne และภายหลังทำการต่อสู้กับการต่อต้านอย่างเหนียวแน่นของกองทัพของฝ่ายพันธมิตร ในบริเวณแม่น้ำ Yres เพราะฝ่ายพันธมิตรต้องการป้องกันท่าเรือบริเวณช่องแคบอังกฤษเอาไว้ กองทัพซึ่งมีกำลังมหาศาลสองกองทัพของเยอรมันก็หลบลงไปรบอยู่ใต้ดิน ซึ่งได้ขุดเป็นแนวสนามเพลาะทอดตัวยาว นับตั้งแต่ชายฝั่งทะเลเบลเยี่ยมผ่านไปทางเหนือของฝรั่งเศสไปกระทั่งถึงพรมแดนของ สวิตเซอร์แลนด์ สงครามสนามเพลาะซึ่งขุดลึกลงไปในพื้นดินเป็นแนวยาวนั้นไม่ใช่เรื่องที่ใหม่เลย นับตั้งแต่สมัยสงครามกลางเมืองของประเทศอังกฤษ ผู้บัญชาการทหารทุกคนทราบดีว่าดินป้องกันกระสุนปืนใหญ่ได้ดีกว่าหินหรืออิฐ แต่นับตั้งแต่นี้ไปการใช้แนวยาวของสนามเพลาะไม่สามารถที่จะป้องกันการรบที่เรียกกันว่า “ศิลปะ” ของสงคราม ซึ่งใช้การโจมตีด้วยกองทัพของทหารม้าเป็นบางครั้ง การโอบขนาบข้างแนวสนามเพลาะ การถอนตัวตามหลักยุทธวิธี ฯลฯ การใช้ “ศิลปะ” เช่นนี้กลายเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้สำหรับ “แนวรบด้านตะวันตก” ที่เยอรมันเผชิญหน้าอยู่ ซึ่งกองทัพกำลังพลมหาศาลไม่สามารถเคลื่อนตัวได้แต่ต้องเผชิญหน้าซึ่งกันและกันใน “ดินแดนไม่มีผู้คน” มีแต่รั้วลวดหนามขึงกั้นไว้เป็นแนวยาว ลวดหนามผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการทำรั้วไร่ของเกษตรกรของสหรัฐ กลายมาเป็นรั้วป้องกันที่ดีของสงครามครั้งนี้ อย่างไรก็ดีเมื่อสงครามมีอายุผ่านไปไม่กี่เดือน ก็เป็นที่เห็นกันชัดว่าการทุ่มเทกองกำลังทหารราบจำนวนมหาศาลโจมตีทหารเยอรมันซึ่งตั้งมั่นอยู่ในแนวขุดสนามเพลาะ มีปืนไรเฟิ้ลและปืนกลไว้รับมือ ฝ่ายพันธมิตรต้องสูญเสียกำลังไปมากมายในการบุกเข้าไปรบกับทหารเยอรมันที่ตั้งรับไว้เช่นนั้น นายพลของฝ่ายพันธมิตรต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ความจริงว่าจะต้องทำการรบแบบไหน นายพลของฝ่ายพันธมิตรยังต้องถูกกดดันจากนักการเมือง หนังสือพิมพ์ และประชาชน ให้หาทางเอาชนะสงครามให้ได้ไม่ว่าจะต้องสูญเสียสักเท่าไร เยอรมันทุ่มเทความพยายามเต็มที่เพื่อที่จะถล่มศัตรูให้พังพินาศย่อยยับ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาวุธปืนได้ประดิษฐ์กระสุนปืนใหญ่เป็นเรียกว่า “ลูกระเบิดปูพรม” ไว้ใช้สำหรับยิงดักหน้าการเคลื่อนกำลังของกองกำลังทหารราบ แต่ก็ไม่ได้ผลเพราะการยิงด้วยกระสุนปืนใหญ่ขนาดนั้นทำให้ดินโคลนถูกแรงระเบิดกลายเป็นหนองน้ำไม่สามารถทำลายรั้วลวดหนามของฝ่ายตรงข้าม แม้ว่าจะเข้ายึดแนวหน้าของศัตรูแห่งหนึ่งไว้ได้ ด้านหลังออกไปก็ยังมีแนวสนามเพลาะของข้าศึกตั้งอยู่อีกหลายแนว แนวรบเหล่านี้จะเชื่อมต่อกัน แนวป้องกันแข็งแรงซึ่งได้รับการเสริมกำลังจากแนวหลังอย่างไม่มีวันหมดสิ้น การใช้ก๊าซพิษมีอันตรายเพราะว่ากระแสลมอาจเปลี่ยนทิศทางได้ มีการพยายามที่จะใช้กระสุนปืนใหญ่สำหรับการทำลายรั้วลวดหนาม ซึ่งวิธีนี้ก็พบความสำเร็จไม่มากนัก การใช้เครื่องบินนั้นก็ใช้เพื่อบินสังเกตการณ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในช่วงต้นๆของสงคราม บรรดาผู้บัญชาการทหารไม่ค่อยศรัทธาสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้ ลวดและผ้าใบเท่าใดนัก มีอยู่ช่วงหนึ่งมีการดวลกันทางอากาศระหว่าง “เหยี่ยว” อากาศที่มีชื่อเสียง และมีการทิ้งระเบิดโดย “เรือเหาะ” เซปเปลิน ของเยอรมัน แต่เรื่องนี้มีผลกระทบต่อการรบบนภาคพื้นดินเพียงเล็กน้อย และไม่มีการผลิตเครื่องบินออกมาใช้จำนวนมากๆอย่างไรก็ดีเครื่องบินเริ่มมีบทบาทและความสำคัญมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในการสนับสนุนการรุกของทหารราบ พอถึงปี ค.ศ.1918 อังกฤษมีเครื่องบิน 22,000 ลำ ในขณะที่ปี ค.ศ.1914 ช่วงต้นสงครามกองทัพอังกฤษมีเครื่องบินเพียง 272 ลำเท่านั้น บรรดานายพลของทั้งสองฝ่ายเริ่มมีความเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดในการเอาชนะสงครามก็คือต้องทำลายแนวป้องกันของฝ่ายตรงข้ามให้พังพินาศอย่างแตกหัก และในวิธีนี้ก็จะต้องสังหารชีวิตศัตรูให้หมดสิ้น เพื่อให้เจตจำนงของการต้านทานนั้นแตกสลาย ด้วยเหตุนี้ชีวิตทหารของทั้งสองฝ่ายจึงสูญเสียไปในสงครามที่โหดเหี้ยมครั้งแรกของโลกเป็นจำนวนมากมายมหาศาลจนน่าสะพรึงกลัว ในช่วงเวลาเพียงแค่เดือนเดียวของปี ค.ศ.1914 ทหารของออสเตรียล้มตายและบาดเจ็บเป็นจำนวนถึง 250,000 คน ในช่วงเวลา 5 เดือนของการรบที่แวร์ดังปี ค.ศ.1916 ทหารของเยอรมันและฝรั่งเศสบาดเจ็บล้มตายรวมกันถึง 600,000 คน และในปี ค.ศ.1917 ในการรบที่ยุทธภูมิปาสเซ่นเดล อังกฤษต้องสูญเสียชีวิตทหารและบาดเจ็บเป็นจำนวนถึง 420,000 คน นอกจากนั้นทั้งสองฝ่ายยังพยายามที่จะเอาชนะสงครามโดยวิธีที่ทำให้ศัตรูขาดแคลนอาหารและวัตถุดิบ อังกฤษผู้ซึ่งเป็นเจ้าแห่งทะเลคุมเส้นทางการเดินเรือทั่วโลก ได้ทำการปิดล้อมศัตรูทางทะเล ซึ่งในปีสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้สร้างความทุกข์ยากให้กับพลเรือนชาวเยอรมัน เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งทำให้กองทัพเยอรมันพบกับความพ่ายแพ้ เยอรมัน – อังกฤษยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลเคยเผชิญหน้ากันในท้องทะเลแค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือที่ยุทธภูมิจัทแลนด์ ในปี ค.ศ.1916 สงครามยุทธนาวีครั้งนี้ถึงแม้ว่าเยอรมันจะอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบกองทัพเรืออังกฤษแต่กองทัพเรือของเยอรมันไม่เคยเดินทางออกจากบริเวณคุ้มกันซึ่งเต็มไปด้วยระเบิดทะเลเลย ตรงกันข้ามเยอรมันหันมาใช้วิธีให้เรือดำน้ำโจมตีเรือสินค้าของฝ่ายพันธมิตรในช่วงเวลาเพียงสามเดือน ตอนกลางปี ค.ศ.1917 เรือดำน้ำเยอรมันจมเรือของศัตรูได้เป็นจำนวนมาก เรื่องนี้ทำให้อาหารของอังกฤษสำหรับไว้เลี้ยงประชาชนมีเหลืออยู่อีกเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น พันธมิตรแก้ปัญหาภัยร้ายแรงจากการที่ถูกเรือดำน้ำของเยอรมันโจมตีเรือสินค้าโดยวิธีจัดให้เรือสินค้าเดินทางโดยที่มีเรือพิฆาตคอยคุ้มกันด้วย อาวุธซึ่งในที่สุดก็ทำให้แนวรบทางด้านตะวันตกถึงขั้นแตกหัก อาวุธพวกนี้ได้แก่รถถังซึ่งอังกฤษเป็นผู้ผลิตออกมาใช้เป็นครั้งแรกในยุทธภูมิแห่งแม่น้ำซอมม์ในปี ค.ศ.1916 ซึ่งครั้งนั้นไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จมากนัก ก็เพราะว่ารถถังของอังกฤษเคลื่อนตัวได้และมีจำนวนไม่มากนัก แต่สำหรับฝ่ายที่เชื่อมั่นในสมรรถนะของรถถังคงทำการผลิตต่อไปเรื่อยๆ และในที่สุดฝ่ายของ พันธมิตรก็มียานยนต์หุ้มเกราะที่สามารถวิ่งผ่านไปตามแนวพื้นที่ที่ทุรกันดารแล้วบดขยี้แนวลวดหนาม พร้อมๆกันนั้นก็มีทหารราบตามหลังมา ในปี ค.ศ.1918 รถถังพร้อมกับการบินระยะต่ำๆของเครื่องบินในระยะต่ำๆ ของฝ่ายพันธมิตรประสบชัยชนะในแถบบริเวณใกล้ๆ อาเมียนส์ เป็นชัยชนะที่เด็ดขาดจนทำให้นายพลลูเดนดอร์ฟฟ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเยอรมันแน่ใจว่าเยอรมันเป็นผู้แพ้สงครามแล้ว นับตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ.1914 นั้นเป็นต้นมา เยอรมันต้องทำสงครามพร้อมกันทั้งสองด้านซึ่งบรรดาเหล่าขุนพลของเยอรมันกล่าวกันว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ภารกิจแรกของเยอรมันก็คือจะต้องหยุดยั้งกองทัพของรัสเซียซึ่งมีถึงสองกองทัพที่มุ่งหน้าเข้ามาในปรัสเซียตะวันออก เรื่องนี้ทำให้ทางเยอรมันจำต้องเรียกตัวนายพลฮินเดนเบิร์กกลับเข้ามารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายพลฮินเดนเบิร์กกับนายพลลูเดนดอร์ฟฟ์ประสบกับชัยชนะคั้งยิ่งใหญ่ถึงสองครั้งในยุทธภูมิแทนเนนเบิร์กและการรบในบริเวณทะเลสาบมาซูเรียน เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.1914 ในการรบครั้งนี้นั้นรัสเซียต้องสูญเสียกำลังพลไปถึง 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดหนึ่งล้านคน แต่ทางใต้ลงมานั้นกองทัพรัสเซียกลับรบชนะกองทัพของออสเตรียฮังการี และผลักดันให้กองทัพออสเตรียฮังการีเข้าไปในกาลิเซีย (ทางตอนใต้ของโปแลนด์) เรื่องนี้เป็นเหตุที่ทำให้เยอรมันต้องย้ายทหารจากแนวรบด้านตะวันตกไปยับยั้งการบุกใหญ่ของรัสเซียในบริเวณนั้น สงครามในแนวรบด้านตะวันออกก็ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ ปักหลักอยู่ในสนามเพลาะเหมือนอย่างการรบในแนวรบด้านตะวันตก ทางเหนือของฝรั่งเศส หากเป็นการรบที่ต้องถอยต้องรุกกลับไปกลับมาคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ระหว่าง บอลติค กับทะเลอาชอฟ ซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นที่ราบ หนองน้ำ ป่า และภูเขา กองทัพ รัสเซียนั้นถึงแม้จะขาดแคลนอาวุธสมัยใหม่ โดยเฉพาะปืนใหญ่สนาม แต่เหล่าทหารรัสเซียก็ได้ทำการสู้รบอย่างกล้าหาญและทรหดอดทน เหมือนอย่างที่เคยทำการรบกับกองทัพของนโปเลียนมาแล้ว ความจริงการบุกครั้งใหญ่ของนายพลบรูซิลอฟ แม่ทัพของกองทัพรัสเซียในปี ค.ศ.1916 ครั้งนั้นเป็นการช่วยให้ฝ่ายพันธมิตรรอดพ้นความปราชัยไปได้เพราะเป็นการบีบให้เยอรมันต้องย้ายกำลังทหาร 35 กองพลจากแนวรบด้านตะวันตกเพื่อไปยังกองทัพของนายพลบรูซิลอฟ แต่ในปลายปีนั้นกองทัพรัสเซียกลับถูกเยอรมันผลักดันให้ถอยร่นกลับหลังหันและถอยร่นไปยังทิศตะวันออก รัฐบาลของรัสเซียพังทลายและเกิดการปฏิวัติใหญ่ปี ค.ศ.1917 ในรัสเซีย นอกเหนือไปจากบริเวณยุทธภูมิใหญ่ที่สำคัญสองแห่ง คือ แนวรบด้านตะวันตก กับ แนวรบด้านตะวันออก แล้วก็ยังมี “ยุทธภูมิประกอบ” อีกหลายแห่ง สามยุทธภูมิประกอบ แห่งแรกนั้นเป็นการรบโจมตีจักรวรรดิตุรกี โดยหวังว่าเมื่อได้รับชัยชนะย่อมทำให้ประเทศในกลุ่มบอลข่านเข้ามาอยู่ข้างฝ่ายพันธมิตรและก็ยังเป็นเสมือนการเปิดเส้นทางเข้าไปโจมตีเยอรมันจากทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อตุรกีพบกับความปราชัยแล้วนั้นก็ทำให้สามารถเปิดช่องแคบคาร์ดาเนลล์ เพื่อให้เรือของฝ่ายพันธมิตรผ่านไปตามช่องแคบนั้น เพื่อขนยุทธปัจจัยไปให้กองทัพรัสเซีย ส่วนในอังกฤษ วินสตัน เชอร์ชิลได้เสนอแผนการที่สำคัญซึ่งถ้าหากนำไปใช้ก็จะเป็นการเอากองกำลังจากทางบกและทางเรือรวมกันเป็นกองกำลังที่ใหญ่โตเพื่อพิชิตศัครู แต่ปรากฏว่าคิทเชนเนอร์นั้นไม่สามารถส่งทหารจากฝรั่งเศสได้มากพอ ทำให้ตุรกีนั้นมีเวลาจัดกำลังเพื่อป้องกัน และกำลังของฝ่ายพันธมิตรซึ่งรวมทั้งกำลังมาจากออสเตรเลียและจากนิวซีแลนด์ ซึ่งได้เดินทางมาขึ้นบกที่คาบสมุทรแกลลิโปลีนั้นมีจำนวนน้อยเกินไปที่จะต่อสู้กับศัตรูได้ การรบที่แกลลิโปลี ฝ่ายพันธมิตรต้องสูญเสียกำลังทหารไปเกือบ 1 ใน 4 ของหนึ่งล้าน ยุทธภูมิแกลลิโปลีจบลงด้วยความพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิงของฝ่ายพันธมิตร “ยุทธภูมิประกอบ” แห่งที่สองนั้นเป็นการโจมตีเมโสโปเตเมีย เพื่อที่จะเอาประเทศในบริเวณนี้ซึ่งมีอิรักกับอิหร่านให้มาอยู่ในความควบคุมของฝ่ายพันธมิตรในขณะที่ “ยุทธภูมิประกอบ” แห่งที่สามนั้นฝ่ายพันธมิตรได้ส่งกำลังจากอียิปต์เข้าไปยังปาเลสไตน์และซีเรีย เพื่อสนับสนุนการปฏิวัติของชาวอาหรับซึ่งได้ลุกขึ้นโค่นอำนาจปกครองของตุรกีในดินแดนอาหรับ นอกจากนั้นแล้วยังมีฝูงชนรวมตัวทำการก่อกวนเพื่อที่จะโค่นอำนาจของทางเยอรมันในอาณานิคมของเยอรมันทุกแห่ง และได้มีการสู้รบเพื่อที่จะเอาดินแดนของเยอรมันในแอฟริกาตะวันออก อิตาลีซึ่งถูกล่อเข้าสู่สงครามเพราะอังกฤษและฝรั่งเศสทำการรบกับกองทัพของออสเตรียในบริเวณทางตอนเหนือของอิตาลีอย่างเหนียวแน่น แต่ก็ต้องพบกับความปราชัยใหญ่โตที่ยุทธภูมิคาโปเรดาโต เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.1917 เป็นความปราชัยที่ร้ายแรงจนต้องถอนกำลังจากแนวรบด้านตะวันตกมาป้องกันแนวรบด้านนั้นไว้ อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดของสงครามในปี ค.ศ.1917 ได้แก่การได้ร่วมเข้าสู่สงครามของสหรัฐ ความจริงแล้วกองทัพขนาดเล็กๆของสหรัฐที่ส่งมาร่วมรบมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยในการต่อสู้อย่างโหดเหี้ยม ซึ่งกำลังเป็นไปอย่างนองเลือดอยู่ในบริเวณภาคเหนือของฝรั่งเศส เมื่อกองกำลังทหารของสหรัฐเดินทางมาถึงบริเวณนั้น แต่การที่สหรัฐจะเอาทรัพยากรมหาศาลมาช่วยทำให้ขวัญของฝ่ายพันธมิตรเบ่งบาน ความวิตกกังวลปราศจากไป ในขณะเดียวกันก็ทำให้ความหวังในชัยชนะสงครามของเยอรมันมืดมนจนมองไม่เห็นทาง การเข้าร่วมสงครามของมิตรที่ทรงอานุภาพอย่างสหรัฐทำให้ฝ่ายพันธมิตรยินดีเป็นที่สุด เพราะในขณะนั้นรัฐบาลของรัสเซียพังทลาย และกองทัพรัสเซียทิ้งแนวรบด้านตะวันออกไป ภายใต้บัญชาการของนายพลรัสเซียที่ดีที่สุด ผลปรากฏว่ากองทัพรัสเซียมีความทรหดและกล้าหาญ แต่ในปี ค.ศ.1915 พระเจ้าซาร์ตัดสินใจผิดพลาดที่ก้าวเข้ามาเป็นผู้บัญชาการรบสูงสุดด้วยพระองค์เอง ปล่อยให้การปกครองภายในประเทศอยู่ในมือของชายาซารินา อเลกซานดร้า ซึ่งเป็นชาวเยอรมัน ซารินา อเลกซาน–ดร้าตกอยู่ภายใต้อิทธิพลอันชั่วร้ายของไกรกอรี่รัสปูติน “นักบุญ” ขี้เมา ซึ่งมีอำนาจสะกดจิตรักษาโรคร้ายแรงของพระโอรสพระองค์เดียวของซารินา อเลกซานดร้าให้หายขาดได้ จากการก้าวขึ้นสู่อำนาจเหนือซารินาทำให้รัสปูตินเปลี่ยนรัฐบาลรัสเซียให้กลายมาเป็นรัฐบาลที่น่าหัวเราะไร้ความหมาย และรัสปูตินยังจะจัดตั้งรัฐมนตรีด้วยตนเอง ในที่สุดในเดือนธันวาคม ค.ศ.1916 รัสปูตินก็ถูกขุนนางรัสเซียกลุ่มหนึ่งวางแผนการสังหารเสียชีวิต แต่ผลเสียนัน้ได้เกิดขึ้นแล้วเพราะว่าในขณะนั้นรัฐบาลรัสเซียไร้เกียรติยศโดยสิ้นเชิง และสิ่งที่เลวร้ายลงไปอีกก็คือมีข่าวเล่าลือออกไปทั่วรัสเซียว่า ซารินากับสหายของพระนางได้ทำการทรยศและไปเข้าข้างกับฝ่ายของเยอรมัน ถึงกระนั้นก็ดีในช่วงต้นปี ค.ศ.1917 กองทัพที่ใหญ่โตของรัสเซียยังคงทำการสู้รบกับศัตรูอย่างเข้มแข็งและด้านการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมยังคงผลิตได้อย่างเต็มที่ มีปัญหาความยุ่งยากก็คือบรรดาคนงานในเมืองขาดแคลนอาหาร เพราะค่าแรงที่ได้นั้นไม่ทันราคาสินค้าซึ่งถีบตัวสูงรวดเร็ว การขนส่งมีไม่เพียงพอ และชาวนาไม่ยอมทำการเพาะปลูกอาหารที่จำเป็น บรรดาชาวนาเองนั้นก็ไม่สามารถที่จะทนต่อราคาสินค้าซึ่งมีราคาสูงเพราะว่าเนเฟ้อ ชาวนารัสเซียจึงพากันเรียกร้องให้เอาผืนนากว้างใหญ่มหา- ศาลมาแบ่งให้พวกตน ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1917 (ตามปฏิทินของรัสเซียเป็นเดือนกุมภาพันธ์) การนัดหยุดงานและจลาจลได้ระเบิดออกมาในกรุงปีโตรกราด (เมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก เดิม) ทางด้านสภาดูม่าของรัสเซียกล้าที่จะวิจารณ์พระเจ้าซาร์และเตือนให้พระองค์ทราบว่าสถานการณ์เลวร้ายลงทุกขณะ พระเจ้าซาร์ นอโคลาสตอบโต้ด้วยการยุบสภาดูม่า เมื่อเป็นเช่นนี้ทหารจำนวนมากได้เข้าร่วมสมทบกับคนงานแล้วจัดตั้งสภาโซเวียตหรือสภาคนงานของตนขึ้นมา การปฏิวัติขยายตัวรวดเร็วเหมือนกับไฟไหม้ป่า เรียกการปฏิวัติครั้งนี้ว่าการปฏิวัติกุมภาพันธ์ ซึ่งบีบบังคับให้พระเจ้าซาร์ต้องยอมสละบัลลังก์ให้พระอนุชาของพระองค์ แต่ประชาชนชาวรัสเซียซึ่งเกิดความเบื่อหน่ายกับสงคราม และจากการที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากมาตลอดชีวิต บัดนี้ได้ถึงจุดเดือด ต้องการให้รัสเซียเป็น สาธารณรัฐ ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นมา เป็นรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การนำของนักสังคมนิยมสายกลาง คือนายเคเรนสกี้ ท่านผู้นี้พยายามที่จะทำงานที่เป็นไปไม่ได้สองเรื่อง คือการสร้างรัสเซียประชาธิปไตยและการชักจูงให้ทหารออกไปทำการรบ ในขณะเดียวกันบุคคลผู้มีพลังมากกว่านายเคเรนสกี้กำลังคอยโอกาสอยู่ บุคคลผู้นี้คือวลาดิมีร์ เลนิน วลาดิมีร์ เลนิน ถูกเนรเทศไปใช้ชีวิตอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ แต่เลนินยังคงติดต่อกับพวกบอลเชวิกอยู่ตลอดเวลา และดำเนินงานควบคุมสหภาพการค้า สหกรณ์ หนังสือพิมพ์ และทำการรณรงค์ต่อต้านสงครามอย่างไม่ยอมเลิก ในทัศนะของทางเยอรมันจึงเห็นว่าเลนินคือคนที่สามารถทำให้ความพยายามทำสงครามของรัสเซียนั้นยุติลงได้ ดังนั้นในเดือนเมษายน ค.ศ.1917 เยอรมันจึงส่งเลนินจากสวิตเซอร์แลนด์ข้ามเยอรมันเข้าไปยังกรุงปีโตรกราด ที่เมืองนี้คนงานมาร์กซีสต์ต้องการมีส่วนร่วมในคณะรัฐบาลอยู่แล้ว อย่างไรก็ดีเลนินได้พบว่าพวกบอลเชวิกยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้และเมื่อทางรัฐบาลขณะนั้นประกาศว่าพวกบอลเชวิกคือพวกทรยศประเทศชาติ เลนินจึงปลอมตัวหนีไปยังฟินแลนด์ที่นั่นเขาจะพบกับพวกสนับสนุนบอลเชวิก สถานการณ์ในรัสเซียยังคงเลวร้ายมากขึ้น สงครามเพิ่มความเลวร้าย ทำให้ทหารชาวนาหนีทัพกลับบ้านจำนวนหลายพันคน เมื่อพวกก่อกวนประกาศว่าการสู้รบในสงครามเป็นผลประโยชน์ต่อชนชั้นปกครองเท่านั้น ประชาชนยากจน การจลาจลแย่งขนมปังได้ระเบิดออกมาในหลายๆเมือง และในเขตต่างๆทั่วประเทศ ชาวนาเริ่มยึดท้องที่นาจากเจ้าของที่ดิน เมื่อนายพลคอร์นิลอฟดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพคนใหม่ของรัสเซียเดินทัพเข้ามายังกรุงปีโตรกราดเพื่อที่จะล้มรัฐบาลเฉพาะกาลแล้วจัดตั้งรัฐบาลทหารแทน แต่นายเคเรนสกี้ต้องการที่จะรักษาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตนไว้ให้ได้ จึงได้จัดส่งอาวุธไปให้พวกบอลเชวิกหรือพวกเรดการ์ด พวกบอลเชวิกได้ทำการต่อสู้กับกองกำลังของนายพลคอร์นิลอฟและขับไล่ทหารของนายพลผู้นี้แล้วจึงเข้ายึดเมืองปีโตรการ์ดไว้ เลนินเดือนทางมาจากฟินแลนด์ เลนินกับเพื่อนของเขาผู้ปราดเปรื่องของเขาที่ชื่อนายทรอดสกี้ได้ร่วมมือกันโค่นล้มรัฐบาลเคเรนสกี้ และแล้วในฐานะที่เป็นประธานสภาคอมมิซซาร์ประชาชนเลนินก็มีอำนาจโดยสมบูรณ์ ในขณะที่กลุ่มอื่นๆยังสับสนหรือตื่นเต้นกับสถานการณ์ที่วุ่นวายในขณะนั้น เลนินก็รู้แล้วอย่างแน่ชัดว่าควรที่จะต้องทำอะไรบ้าง งานครั้งแรกของเลนินนั้นก็คือการกำจัดพวหเมนเชวิกและการปฏิวัติสังคมเพราะเลนินตัดสินใจแล้วว่าไม่ต้องการที่จะแบ่งอำนาจให้กับกลุ่มใด งานชิ้นต่อไปเลนินประกาศเอาที่ดินเป็นของรัฐและยุติสงครามทันที เยอรมันฉกฉวยโอกาสเต็มที่จากการประกาศเลิกสงครามของทางเลนิน โดยการเรียกร้องอย่างหนักจากทางรัสเซีย จนกระทั่งแม้แต่ทรอดสกี้ในครั้งแรกก็ไม่ยอมตามคำเรียกร้องของเยอรมัน แต่เลนินยอมจ่ายเพื่ออำนาจของตน ข้อเรียกร้องของทางเยอรมันคือผืนแผ่นดินที่กว้างใหญ่ของทางรัสเซียตะวันตกซึ่งรวมถึงดินแดนเพาะปลูกของแคว้นยูเครน เหมืองถ่านหินทั้งหมด และจำนวนประชากรชาวรัสเซีย 1 ใน 3 สนธิสัญญาเบรสท์-ลิทอฟส์ ระหว่างเยอรมัน-รัสเซีย ยุติสงครามในแนวรบด้านตะวันออกและทำให้เยอรมันทุ่มเทเต็มที่เอากำลังที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมดมาต่อสู้กับศัตรูในแนวรบด้านตะวันตก ขณะนั้นผู้นำทางทหารของเยอรมันได้ทราบแล้วว่ากำลังของทางตุรกีนั้นเกือบหมดแล้ว อาหารและวัสดุในเยอรมันกลายเป็นปัญหาที่ร้ายแรง อังกฤษยังไม่อดอาหารจนต้องยอมแพ้ และเมื่อเวลาล่วงเลยไปอีกปีทหารอเมริกันจำนวนมากจะเดินทางมาถึงภาคเหนือของทางฝรั่ง-เศส แต่ก็มีโอกาสสุดท้ายในการที่จะเอาชนะสงคราม ถ้าหากว่าเยอรมันจะรีบเอาชนะอย่างรวดเร็ว การที่รัสเซียออกจากสงครามทำให้เยอรมันเคลื่อนย้ายทหารนับล้านคน ปืนใหญ่อีกนับพันกระบอกมายังแนวรบด้านตะวันตก สำหรับโจมตีอังกฤษอย่างรุนแรง การบุกครั้งใหญ่ของเยอรมันปี ค.ศ.1918 กองทัพเยอรมันบุกทะลวงผ่านแนวทหารของฝ่ายพันธมิตรและบีบให้อังกฤษต้องหันหลังกลับ เป็นการถอยทัพเต็มอัตราของทางอังกฤษ ทางใต้ลงไปการบุกอย่างรวดเร็วและรุนแรงอย่างต่อเนื่องของทางเยอรมันทำให้กองทัพของเยอรมันเดินทางมาเกือบถึงกรุงปารีส สถานการณ์ของทางฝ่ายพันธมิตรกำลังคับขันอย่างหนัก จนคำสั่งจากกองบัญชาการสูงสุดของพันธมิตรมาถึง นายพลฟอคผู้บัญชาการทหารของฝรั่งเศส ซึ่งส่งกำลังทุกหน่วยรบมาสกัดกั้นเยอรมันมาถึงช้าเกินไป เมื่อการบุกคืบหน้าครั้งใหญ่ของเยอรมันหยุดลง แนวรบของทหารเยอรมันเรียงตัวเป็นแนวโปร่งสองแนวรบใหญ่ ในช่วงนี้กองทัพทหารของอเมริกันเดินทางมาถึงฝรั่งเศสและเริ่มทำการรบ ในเดือนกรกฎาคมนายพลฟอคมีความรู้สึกว่ากองทหารของฝ่ายตนมีความเข้มแข็งมากพอที่จะโจมตีแนวโป่งของทหารเยอรมันในแนวแม่น้ำมาน (River marne) จอมพลเปแตง แห่งฝรั่งเศส วีรบุรุษแห่งเวเดิงได้ร่วมมือกับนายพลฟอคและได้เกิดความเชื่อมั่นว่าปาฏิหารย์ของชัยชนะนั้นอยู่แค่เอื้อม จอมพลเปแตงจึงมีคำสั่งให้โจมตีแนวรบที่สองของเยอรมัน คือแนวทหารของเยอรมันเป็นแนวโป่งตัวที่อาเมียนส์อย่างหนัก ยุทธภูมิอาเมียนส์ มีกองทัพทหารของอังกฤษและฝรั่งเศสสนับสนุนโดยรถถังรุกหนักทำให้เยอรมันต้องถอยร่นไปอย่างอลหม่าน ทันทีทันใดนั้นแนวรบด้านตะวันตก ซึ่งเกือบไม่มีการเคลื่อนที่ตลอดเวลาถึงสี่ปี นับตั้งแต่สงครามได้เริ่มต้นก็เริ่มเคลื่อนไหวกันอย่างช้าๆอุ้ยอ้าย เหมือนหิมะถล่มเพราะมีแรงกดดันมหาศาลอยู่ทางข้างหลัง เยอรมันไม่สามารถที่จะหยุดยั้งมันได้ เยอรมันยังคงต่อสู้อย่างเข้มแข็งแต่ค่อยๆขยับเข้าไปสู่แนวพรมแดนประเทศของตน เมื่อบรรดาผู้นำของเยอรมันรู้ว่าจะต้องปราชัยก็พยายามที่จะยุติสงครามอย่างรวดเร็ว เหมือนอย่างการเริ่มต้นทำสงคราม ในวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ.1918 เยอรมันส่งคำเรียกร้องไปยัง วูดโรว์ วิลสัน ประธานาธิบดีของสหรัฐเพื่อที่จะขอสงบศึก ประธานาธิบดีตอบกับเยอรมันว่าเยอรมันจะต้องยอมรับเงื่อนไข 14 ข้อ ซึ่งวูดโรว์ วิลสันเป็นผู้กำหนดขึ้นสำหรับประกาศให้โลกทราบในเดือนมกราคม ปี ค.ศ.11918 โดยมิได้มีการปรึกษากับฝ่ายพันธมิตร ซึ่งทำการสู้รบอย่างขมขื่นมานานกว่าสามปี หลักการ 14 ข้อของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐกล่าวโดยสรุปมีดังนี้ 1. ไม่มีการจัดทำสนธิสัญญาลับระหว่างประเทศอีก 2. ความมีเสรีภาพทางท้องทะเลแม้ในยามสงคราม 3. การค้าเสรีระหว่างประเทศ 4. การลดอาวุธ 5. แก้ไขเรื่องการอ้างสิทธิอาณานิคม 6. จะต้องถอนตัวออกจากดินแดนของรัสเซีย 7. เบลเยี่ยมจะต้องมีอิสรภาพ 8. จะต้องคืนแคว้นอัลซัค-ลอร์เรนให้ฝรั่งเศส 9. จะต้องปรับพรมแดนของอิตาลี 10. ประชาชนในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีจะต้องมีโอกาสในการปกครองตนเอง 11. จะต้องฟื้นฟูรัฐในบอลข่าน และเซอร์เบียจะต้องมีทางออกทางทะเล 12. ประชากรไม่ใช่ชาวเติร์ก ในจักรวรรดิตุรกีจะต้องเป็นอิสระ 13. จะต้องสร้างโปแลนด์ขึ้นมาใหม่ 14. จะต้องจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศ ในหลักการ 14 ข้อของวิลสัน มองเห็นได้ชัดเจนถึงเจตนารมณ์ของวิลสันในเรื่องสันติภาพและความยุติธรรม และยังมองเห็นได้ชัดเจนอีด้วยว่า วิลสันเชื่อว่าสงครามนั้นเกิดจากความละโมบของรัฐบาลที่เสาะแสวงหาดินแดนและอำนาจ และประชากรกลุ่มน้อยจะต้องมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐอิสรภาพของตนเอง เพราะวิลสันได้แสดงความเห็นใจต่อชาวเชค โปล เซิร์บ สโลวัคและประชากร กลุ่มอื่นๆซึ่งเข้ามาขอร้องเรื่องนี้ในสหรัฐ ในขณะที่การเจรจาสงบศึกกำลังดำเนินอยู่นั้น มิตรของทางเยอรมันก็ได้แพ้สงคราม ซึ่งมีดังนี้ บัลแกเรียยอมแพ้สงครามเมื่อวันที่ 30 กันยายน ตุรกีวันที่ 31 ตุลาคม และ ออสเตรียในวันที่ 3 พฤศจิกายน ในขณะเดียวกันบรรดานายพลของเยอรมันก็เรียกร้องให้รัฐบาลของตนเร่งทำสัญญาสันติภาพ ก่อนที่กองทัพของเยอรมันจะถูกตีถอยร่นกลับเข้าสู่ดินแดนเยอรมัน เพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่ากองทัพของเยอรมันมิได้พ่ายแพ้ในสมรภูมิ แต่เพราะมิตรซึ่งเข้าร่วมสงครามฝ่ายเดียวกันและพลเรือนภายในประเทศหักหลัง ความจริงประชาชนชาวเยอรมันยืนหยัดอดทนต่อความกดดันของสงครามได้อย่างน่าพิศวงเฉพาะเมื่อกองทัพต้องถอยร่นเท่านั้น ที่ประชาชนชาวเยอรมันก่อจลาจลขึ้นในหลายแห่งของประเทศและคนงานชาวเยอรมันจัดตั้งสภาคนงาน “โซเวียต” ในลักษณะสภา- โซเวียตของรัสเซีย จุดจบของสงครามมาถึงอย่างรวดเร็ว ในวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.1918 ผู้แทนเจรจาสงบศึกของทางเยอรมันได้รับเงื่อนไขของการสงบศึก ซึ่งมีรายการสังเขปดังนี้ กองทัพของเยอรมันจะถอนตัวไปอยู่หลังแม่น้ำไรน์ อาวุธอุปกรณ์ เรือดำน้ำและเรือรบจะต้องยอมจำนน สนธิสัญญาเบรสท์ - ลิทอฟส์ ระหว่างเยอรมัน-รัสเซียต้องยกเลิก ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พระเจ้าวิลเลียมที่ 2 และมกุฎราชกุมารของเยอรมันเสด็จหนีไปประทัพอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เรื่องนี้ทำให้ประชาชนชาวเยอรมันโกรธแค้นที่ไกเซอร์ทอดทิ้งกองทัพในชั่วโมงของความพ่ายแพ้จึงพอใจให้พระองค์เสด็จหนีไปในวันนั้นเองในกรุงเบอร์ลิน เยอรมันก็ประกาศเป็น สาธารณรัฐ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ.1918 สัญญาสงบศึกมีผลบังคับใช้ เสียงปืนในแนวรบด้านตะวันตกเงียบสนิทแล้วสงครามโลกครั้งแรกก็ได้ผ่านพ้นไป ทิ้งความทรงจำไว้บนหน้าประวัติศาสตร์โลก




ความคิดเห็นของคุณกับบทความนี้ ...

 

user_icon

Knowledge Center
knowledge center
knowledge

star

เลื่อนตัวเองขึ้น แต่อย่าลดคนอื่นลง
 
เรื่องน่ารู้ตามหมวดหมู่
• การแพทย์
• ความรู้ทั่วไป
• เรื่องของผู้หญิง
• กีฬา
• ข่าวและสื่อ

และอื่น ๆ อีกมาก

  ค้นหาเรื่องที่คุณสนใจ
ระบุ keyword
 
True vision

TV Icon

TV Interview

หลากเรื่องราวทางธุรกิจ แง่มุมของผู้บริหาร จากบริษัทชั้นนำต่างๆ

dot
HR Corner
สัมภาษณ์คัดเลือกผู้สมัครงานอย่างไร? ให้ตรงสเป็ค
https://www.jobpub.com/new_images/play.gif
 
The Seeds of Innovation นวัตกรรมใหม่แห่งการพัฒนาบุคลากร
https://www.jobpub.com/new_images/play.gif
 
การสร้างความแตกต่าง ให้เหนือคู่แข่ง
คุณมกร พฤฒิโฆสิต
https://www.jobpub.com/new_images/play.gif
dot

https://www.jobpub.com/new_images/playall_b.gif

 

หางานบ่อย : ทั้งหมดบ วุฒิ ป.6 กรุงเทพ ธุรการประสานงาน บางกะปิ เบ็ญจมาศ พัฒนาการ ต..สำโรง วุฒิ ม.3 โตโยต้า ผับกรุงเทพ พนักงานขาย PCสัตหีบ วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ โรงงาน ลาดกระบัง เจ้าหน้าที่เขียนแบบ ชลบุรี TOYODA หัวลำโพง พนักงานขาย เซ็นทรัล ชลบุรี รฏยฟยฝรยกรกยบยบ โรบินสันเชียงใหม่กุ๊ก 15000 งานพัทยา สาธุประดิษ ยานนาวา ชิงปปิง ทรัพยากรบุคคล สมุทราปราการ ธุรการ จ.สมุทรสาคร โรงแรม บางขุนเทียน สินธุ เจ้าหน้าที่คลัง งานแถววรจักร จิ ครูพิษณุโลก c.p หางานห้างสมุทรปราการ ttm oracle บัญชี 1 4 0 พนักงานนวด ภูเก็ต หัวหน้าแผนกบัญชี หางาน toyota หางานซาวาเนีย พี่งเด็ก 18.00-02.00 โรงงานนิคมลำพูนฝ่ายผลิต ภูเก็ตเดกเสิฟ รฏยฟยฝร‘ยตร‡ยบรฏยฟยฝรฏยฟยฝ ขายงานศิลปิน โรงเรียนจังหวัดนครศรีธรรมราช เขียนภาพ งด ผู้ช่วยคูร หางานสายไหม เนท วุฒิ ม3 จ.ลำพูน