หน้าแรก เขียนใบสมัครงาน ลงโฆษณางาน ค้นหาใบสมัครงาน คู่มือการใช้งาน Menu

สนใจลงโฆษณา โทร. 02-275-1900, 02-612-4900, 038-395000

space
   ค้นบ่อย : หางานบัญชี, หางานธุรการ, หางานจัดซื้อ, หางานผู้จัดการ, หางานขับรถ, หางานบุคคล, หางานคลังสินค้า, หางานครู, หางานวิศวกร, หางานเขียนแบบ, หางานคีย์ข้อมูล, หางานการตลาด, หางานโรงแรม, หางานสิ่งแวดล้อม, หางานคอมพิวเตอร์, หางาน Programmer, หางานประชาสัมพันธ์, หางานช่าง, หางานสถาปนิก
เรื่อง จีดีพี อะไรกันนักหนา
เขียนโดย บุญเสริม บุญเจริญผล

Rated: vote
by 214 users

คุณคิดอย่างไรกับเรื่องนี้?

 




จีดีพี จีเอ็นพี รายได้ประชาชาติ

รายได้ต่อหัว มันอะไรกันนักหนา

GDP, GNP, NI, AND INCOME PER CAPITA : WHAT TERRIBLE WORDS?

31 ธันวาคม พ.ศ. 4699 ซึ่งเท่ากับ ค.ศ. 4156 เป็นวันขึ้นปีใหม่ที่ประชาชนชาวไทยมีความสุขมาก เกือบทุกคนมั่นใจในผู้นำของเขา โดยมีคติพจน์ว่า “เชื่อผู้นำ ชาติเจริญ” พรุ่งนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ ประชาชนตั้งใจรอคอยฟังคำปราศัยของท่านนายกรัฐมนตรีโทโส ผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ของเขาว่า จะมีข่าวดีอะไรมาบอกเขาบ้าง

ฝ่ายรัฐบาลก็ตื่นเต้นพอกัน ท่านนายกโทโสก็ต้องเตรียมสุนทรพจน์กล่าวให้ประชาชนมั่นใจในตัวเขา เพื่อขวัญกำลังใจที่ดีมีเรี่ยวแรงช่วยกันสร้างบ้านสร้างเมืองให้รุ่งเรืองต่อไป

ท่านโทโสปรึกษาท่านสมคบรองนายกรัฐมนตรีนักเล่นหุ้นระดับเขี้ยวลากดิน ว่า “ปีใหม่นี้เราจะเอาข่าวเศรษฐกิจอะไรมาปลอบใจประชาชนดี ไก่ก็ตายไปมากแล้ว เราจะกินไก่ให้ดูก็ไม่มีใครเชื่อ”

“โธ่…พี่ ! ไม่เห็นจะยากเลย” สมคบกลืนเมือกในลำคอเพื่อให้พูดคล่อง แล้วกล่าวต่อไป “ก็บอกประชาชนว่า เศรษฐกิจไปโลด ดูซิหุ้นขึ้นราคาดัชนีเป็นพันๆแล้ว เมื่อก่อนแค่ร้อยเดียว”

“ไม่เอานะ ผมไม่กล้าโหก เดี๋ยวคนเขาจับได้.. หุ้นแพงมันไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดีหรือเลวไม่ใช่หรือ การเล่นหุ้นมันเป็นการเก็งกำไร เป็นการพนันต่างหาก”

“ใช่.. พี่ ใช่เลย มันไม่เกี่ยวกันหรอก แต่ใครๆเขาก็เอาดัชนีหุ้นมาหลอกกันทั้งนั้น พี่ดูนายกบานหาวซิ โดนน้องจิ๋วน้องช้วนขู่หน่อยเดียวว่า หุ้นตก เศรษฐกิจตกต่ำมาก ไม่ควรเป็นนายกอีกต่อไป ออกไป ลาออกไป ท่านบานหาวตกใจเผ่นหนีแน่บเลย ” สมคบแนะนำ

“เอางั้นเรอะ เอาก็เอา พี่จะบอกว่าหุ้นดี แปลว่าเศรษฐกิจดีนะ แล้วอย่างอื่นล่ะ มีอะไรแนะพี่อีก” โทโสเห็นด้วยตามเสนอแล้วถามต่อ

“ก็นี่ไงพี่… จีดีพี จีเอ็นพี รายได้ประชาชาติ รายได้ต่อหัว บอกว่าทุกตัวมันดีขึ้นทั้งนั้น พูดไปเถิด ไม่มีคนรู้สักกี่คนหรอก ยิ่งพี่พูดฝรั่งคำไทยคำติดปากด้วย ยิ่งแนบเนียนมากเลย” สมคบตวัดลิ้นกระดาษทรายกราบเรียนต่อไป

“พี่ก็ไม่ค่อยเข้าใจนะ ศัพท์อะไรไม่รู้”

“ไม่เป็นไรพี่ ก็บอกเขาว่า พี่พูดไทยไม่ค่อยชัด พี่เป็นคนเมืองเหนือ และอยู่เมืองนอกนาน ขนาดโรคาพยาธิ พี่ยังอ่านเป็นโรคาพะยาดซะเลย พี่ก็แก้ตัวได้นะ พูดไปเถิด ยิ่งคนไม่เข้าใจ เขายิ่งว่าพี่เก่ง คนเรามันเป็นอย่างนั้นแหละ”

“แล้วเรื่องการพูดจาออกอากาศของพี่ สมคบมีอะไรจะเตือนพี่บ้างล่ะ”

“พี่ก็พูดดีแล้วละ แต่พี่ต้องระวังนะ พี่มักพูดก่อน คิดทีหลัง”

 

จีดีพี จีเอ็นพี

(GDP - GNP)

คืนวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 4700 ท่านนายกประกาศทางวิทยุ ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ผู้ชมเห็นอะไรเหมือนคีมหนีบอยู่บนหัว เสียงท่านชัดเจนแสดงความมั่นใจ “ปีที่ผ่านมานี้ จีดีพีของประเทศเราเติบโตเร็วมาก เพิ่มขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ผมเชื่อมั่นว่า ปีหน้า จีดีพี จะเติบโตอีก 80 เปอร์เซ็นต์ อย่าไปเชื่อใครว่า ถ้าจีดีพีโตเร็วแล้วจะเกิดปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ เชื่อผมดีกว่า ไหนๆท่านก็เชื่อผมมาแล้ว ขอให้เชื่อต่อไป ถ้าใครไม่เชื่อ อาจอยู่ประเทศไทยด้วยกันไม่ได้” ท่านนายกโทโสอธิบายเรื่องดีๆอีกมากมายเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง

หลังจากออกอากาศออนแอร์เสร็จ ท่านนายกก็ถามท่านสมคบที่นั่งคุมอยู่ข้างๆทันที “เฮ้ย ! สมคบ จีดีพี แปลว่าอะไรดี มันหมายถึงอะไร”

“พี่! จีดีพี (GDP) ย่อมาจาก กรอส โดเมสทิค โพรดัคท์ (Gross Domestic Product ) หมายความว่า เป็นมูลค่าของผลผลิตสินค้าและบริการที่คนไทยและคนต่างชาติผลิตขึ้นมาในประเทศไทย”

“ยังไม่เข้าใจ”

“ง่ายๆพี่! สมมุติทั้งปีนะ พี่ผลิตผ้าขาวม้า 2 ผืนๆละ 100 บาท รวมเป็น 200 บาท ผมผลิตบริการรับจ้างเกาหลัง คิดเป็นมูลค่า 300 บาท คุณซดโต๊ะชาวญี่ปุ่นเข้ามาผลิตรถยนตร์หอนด่า 3 คันๆละ 1ล้านบาท รวม 3 ล้านบาท ถ้าประเทศไทยเรามีเราสองคนกับพ่อค้าญี่ปุ่นหนึ่งคน มูลค่าสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศไทย หรือ จีดีพี (GDP) ก็เท่ากับ ของพี่ 200 บาท ของผม 300 บาท ของคุณซดโต๊ะชาวญี่ปุ่น 3 ล้านบาท ก็รวมเป็น สามล้านกับห้าร้อยบาท” สมคบพยายามแนะให้ลูกพี่เข้าใจ “ผมทำรายการเป็นตารางให้ดูนะ”

พี่โทโส ผลิตผ้าขาวม้า มูลค่า 200 บาท

                                        ผม นายสมคบ ผลิตบริการเกาหลัง มูลค่า 300 บาท

                                        คุณซดโต๊ะ ผลิตรถหอนด่า มูลค่า 3,000,000 บาท

                          รวมมูลค่าผลผลิตที่ผลิตได้ในประเทศ 3,000,500 บาท

 

“เออ ! เดี๋ยวนะสมคบ พี่ว่ามันไม่เข้าท่านะ เวลาเราคิดจีดีพี คือ มูลค่าของผลิต เรานับรวมมูลค่ารถยนตร์ญี่ปุ่นที่ผลิตในประเทศไทยเข้าไปด้วยหรือ?”

“ใช่เลยพี่… นับมูลค่าของคนต่างชาติที่ผลิตได้ในประเทศไทยเข้าไปด้วย ปีนี้ก็สามล้านบาทนะ” สมคบชี้แจง

“อ้าว! ก็นั่นมันไม่ใช่ของคนไทยนี่นา นับรวมเข้าไปให้มันเกะกะกระดาษทำไม?” ท่านโทโสคัดค้าน

“นับๆเข้าไปเถอะน่า ดูตัวเลขมันเยอะดี พี่จะได้คุยได้ว่า ยุคพี่เป็นนายก เศรษฐกิจเจริญดี”

“ไม่เอาน่า ประกาศออกไป ก็เป็นการหลอกประชาชนนะ ไม่ดีหรอก เป็นบาป”

“ใครๆเขาก็หลอกกันทั่วโลกแหละ แล้วพี่ยังจะกล้าพูดความจริงอยู่คนเดียวหรือ?” สมคบยังยืนยันให้หลอกต่อไป

“แล้วสินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศไทยมีอะไรบ้าง? สมคบ !”

 

การเกษตร 300,000 ล้านบาท

เหมืองแร่และย่อยหิน 80,000 ล้านบาท

การอุตสาหกรรม 600,000 ล้านบาท

การก่อสร้าง 200:,000 ล้านบาท

การไฟฟ้าและประปา 50,000 ล้านบาท

การขนส่งและคมนาคม 150,000 ล้านบาท

การค้าส่งและค้าปลีก 400,000 ล้านบาท

การธนาคาร ประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ 200,000 ล้านบาท

สร้างบ้านที่อยู่อาศัย 70,000 ล้านบาท

การบริหารราชการและการป้องกันประเทศ 80,000 ล้านบาทการบริการ 300,000 ล้านบาท

รวมมูลค่าสินค้าที่ได้ในประเทศ (GDP)2,430,000 ล้านบาท

“พี่ดูตารางข้างบนนะ เอาเพียงประมาณนะ ไม่ตรงเป๊ะ อ้อพี่! ต้องเป็นสินค้าหรือบริการขั้นสุดท้ายถึงมือผู้บริโภคนะ ไม่ใช่ซื้อเอาไปผลิตขายต่อนะ ต้องซื้อเอาไปใช้ได้เลย ไม่งั้นนับซ้ำนับซ้อนกันมั่วเลย”

“ทำไมต้องเป็นขั้นสุดท้ายล่ะ สมคบ”

“ก็เพราะว่า เราจะนับซ้ำแล้วซ้ำอีกล่ะซี เช่น ซื้อผ้าเอาไปตัดเสื้อ ก็คิดตอนเป็นเสื้อแล้ว ตอนเป็นผ้าอย่าคิดนับ เพราะผ้าอยู่ในเสื้อนั้นแล้ว แต่ถ้าซื้อผ้าไปห่มต้นโพธิ์ขอหวย ก็คิดนับได้เลย”

“เออ! แล้วบริการรับเกาหลังของคุณเอาไปใสในรายการไหนล่ะ?”

“ใส่ในรายการการบริการไงพี่”

“แล้วคันหลังเอง เกาเอง คิดนับด้วยหรือเปล่า?”

“ไม่คิด !พี่ สินค้าและบริการที่ผลิตเองใช้เอง ไม่ต้องคิดนับ ทำนาเอาข้าวไว้กินเอง ก็ไม่นับ หลานนวดให้ยาย ก็ไม่นับ”

“ทำไมล่ะ? มันก็เป็นสินค้าและบริการที่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตเหมือนกัน ทำไมไม่คิดนับด้วย พี่ว่ามันไม่เข้าท่านะ”

“จริงด้วย พี่! แต่ฝรั่งสอนเรามาอย่างนั้น ฝรั่งไม่ค่อยทำอะไรใช้เอง ซื้อท่าเดียว”

“แล้วเราเป็นขี้ข้าฝรั่งด้วยหรือ?”

“งั้นแหละพี่… บางคนงี้ … พูดไทยปนฝรั่ง แถมยังผิดอีก โอท็อพ ก็พูดว่า โอถอพ เอเพ็ค ก็ว่า เอเป็ค พอถึงโรคาพยาธิ ก็อ่านโรคคาพะยาด โอ๊ย ! ปวดหัว โดนใครมั่งก็ไม่รู้”

 

จีเอ็นพี (GNP)มูลค่าผลผลิตของคนไทย

แม้ว่าน้ำจะอ่อนและละลายอะไรได้เยอะแยะ แต่น้ำก็ไม่สามารถละลายเสมหะในคอท่านนายกได้ เช้าวันเสาร์วันนี้ หลังจากท่านโทโสเริ่มออกอากาศ พบประชาชนสักครู่ พอพูดถึงจีดีพีของปีนี้มีค่าสูง แสดงว่าเศรษฐกิจไทยเจริญดี เสมหะในคอท่านก็เป็นเมือกข้นขึ้นมาทันที จนต้องยุติการออกอากาศ ครั้นจะเอามือทำใบ้แบ๊ะๆ ท่านก็ทำไม่เป็น ที่จริงท่านเกิดอาการเครียดซ่อนเร้นจากการพูดถึงจีดีพี ทำให้พูดไม่ออก ท่านจึงเชิญสมคบคู่หูมาปรึกษา

“นี่คุณสมคบ ผมไม่สบายใจนะ ผมไม่อยากใช้ตัวเลขจีดีพีหลอกคนไทยเลยนะ เพราะรวมเอามูลค่าสินค้าบริการของคนต่างชาติเข้าไปด้วย สินค้าบริการเหล่านี้ไม่ใช่ของเรา แล้วเราจะดีใจได้ยังไงกัน ผมอายนะคุณ ให้ผมพูดตัวเลขอื่นได้ไหม?” ท่านโทโสขอความเห็นใจเสียยืดยาว

สมคบเคาะหัวตัวเองเบาๆ ทำท่าเหมือนเด็กเจ้าปัญญา แล้วกล่าวว่า “ได้ซิพี่ เอาเฉพาะที่เป็นสินค้าและบริการของคนไทยนะ”

“นั่นแหละ! นั่นแหละ! อยากได้”

“เอาจีเอ็นพีนะพี่ จีเอ็นพี (GNP) ย่อมาจาก Gross National Product แปลว่า มูลค่าสินค้าและบริการรวมทั้งชาติ ยังไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร คือ ยังงี้นะ จีดีพีเอาดินแดนเป็นหลัก ใครก็ตามมาสร้างสินค้าและบริการในราชอาณาจักรไทย เราก็ตีค่าเป็นเงิน นับหมด จะเป็นของฝรั่งจีนแขกไทยก็ได้เลย แต่คราวนี้เอาใหม่นะพี่ เอาจีเอ็นพี เราจะเอาเฉพาะมูลค่าการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นของไทย เช่น

1. พี่โทโสผลิตผ้าขาวม้า 2ผืนๆละ100บาท มูลค่าเท่ากับ 200 บาท

2. สมคบผลิตบริการรับจ้างเกาหลัง มูลค่า 300 บาท

3. คุณซดโต๊ะญี่ปุ่นผลิตรถหอนด่า 3คัน มูลค่ารวม 3,000,000 บาท

4. ตาเชอะไปขับรถบรรทุกที่อิรัค ได้เงิน 10 บาท

5. ป้าฝุบ ไปเป็นแม่ครัวให้บ้านซัดดำ ได้เงิน 20 บาท

ที่นี้เราเอาคนไทยเป็นหลักนะพี่ ไม่เอาดินแดนเป็นหลัก คือ จีดีพีเอาดินแดนไทยเป็นหลัก ส่วนจีเอ็นพี(GNP) เอาคนไทยเป็นหลัก ฉะนั้นส่วนที่เป็นมูลค่าที่คนไทยผลิตได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือ 200 + 300 + 10 + 20 = 530 บาท จีเอ็นพี 530 บาท ไม่มากนะพี่ เพราะเราไม่รวมมูลค่าผลผลิตของคุณซดโต๊ะ อย่างกรณีนี้ จีดีพี เท่ากับ 200 + 300 + 3,000,000 = 3,000,500 บาท มากนะพี่ พี่ไม่เอาจริงๆเรอะ มากดีนะ แหม… ถ้าพี่ประกาศว่าปีนี้ จีเอ็นพี เท่ากับ 530 บาท มันกระจอกนะพี่”

“คุณสมคบ… แล้วจีเอ็นพีของเราทั้งชาติ น้อยกว่าจีดีพี หรือเปล่า?”

“”น้อยกว่าซิพี่… ฝรั่ง ญี่ปุ่น ไต้หวัน อเมริกา เขามาทำงานเป็นนายห้าง เป็นวิศวกร รายได้เขาดี เขาก็ได้เงินกลับไปมาก ส่วนพวกเรา ไปเป็นคนงาน ก็ได้เงินน้อย สำหรับพวกไปขายอาหารไทย ก็ตั้งหลักแหล่งอยู่เมืองนอก ไม่นำเงินกลับเมืองไทย ก็ไม่นับรวม”

“คุณสมคบ จากจีดีพี คิดต่อเป็นจีเอ็นพีได้ไหม?”

“ได้ครับ …สบายมาก อย่างตัวเลขข้างบนนี้นะ จีดีพี เท่ากับ 3,000,500 บาท หักของคุณซดโต๊ะออก 3,000,000 บาท เพราะไม่ใช่ของคนไทย เหลือ 500 บาท บวกมูลค่าที่ตาเซอะกับป้าฝุบไปได้มาจากเมืองนอก 30 บาท รวมเป็น 530 บาท ห้าร้อยสามสิบบาท นี่แหละเป็นจีเอ็นพี “

“ถ้าเราไม่นับรวมของคนต่างชาติแต่แรก นับเฉพาะผลผลิตของคนไทยทั้งในและนอกประเทศ ก็เป็นจีเอ็นพีแล้ว จะไม่ดีกว่าหรือ? ง่ายด้วย”

“ อ้าว! ถ้าเขาเห็นว่าง่ายๆ เขาก็ไม่ว่าเราเก่งน่ะซิพี่”

ท่านโทโสนั่งคิดตามครู่หนึ่ง แล้วถามว่า ”คุณสมคบ.. ของประเทศไทยเราตอนนี้ จีเอ็นพีเป็นเท่าไหร่?”

“ก็ราว 2ล้านล้านบาท นี่เป็นตัวเลขประมาณคร่าวๆนะ สำหรับประเทศไทย จีเอ็นพี น้อยกว่า จีดีพี ในประเทศที่ร่ำรวยกว่าเรา จีเอ็นพี มากกว่า จีดีพี”

“แล้ว จีเอ็นพี จะน้อยกว่า จีดีพี ไปอีกเรื่อยๆไหม? คุณสมคบ”

“ผมว่านับวัน จีเอ็นพี จะน้อยกว่า จีดีพี ไปตลอด เพราะคนต่างชาติที่มีความสามารถมากจะเข้ามาหากินในบ้านเรามากขึ้น ก็โกยเงินไปมากขึ้น คนไทยก็ไปหากินเมืองนอกมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้กี่บาทหรอก ยิ่งเปิดประเทศมากเท่าไร เราความสามารถน้อยกว่าเขา ก็ยิ่งเสียเปรียบไปเรื่อยๆ”

“แล้วจะให้พี่ทำไงดี ปิดประเทศมันเลยไม้! หรือไม่ก็ต้องตั้งเงื่อนไขว่า ที่คุณมาเอาเงินบ้านฉันต้องไม่มากกว่า ฉันไปเอาเงินบ้านคุณ”

“แล้วคุณพ่อฝรั่งจะไม่ว่าเอาหรือ?”

“ฝรั่งไม่ใช่พ่อเรา และผมจะให้นับสินค้าและบริการที่ผลิตใช้เองในครัวเรือนเข้าไปด้วย พวกหาบเร่ แผงลอย แม่บ้านทำงานบ้าน ผมจะให้นับให้หมด ดีไหม?”

”ดีมากเลยครับ ถ้าทำยังงั้น ฝรั่งมันจะป่วนนะครับ”

“แม้แต่วิธีคิด เราจะไม่มีเสรีภาพเลยหรือ หรืออยากเป็นทาสทางความคิดเขาไปตลอดทุกชาติทุกชาติ”

“ ถูกเลย! เยี่ยมจริงๆ พวกเราไม่ใช่ทาสครับ แต่เขาว่าพี่เป็นนายทาส ส่วน พวกกระผมรัฐมนตรีทั้งหลายก็เป็นทาสในเรือนเบี้ยของพี่นะครับ โปรดอย่าขับไล่เลิกทาสกระผมเลยนะครับ”

 

รายได้ประชาชาติ รายได้ของใคร?

(NATIONAL INCOME – WHOSE INCOME?)

คำว่ารายได้ประชาชาติ เมื่อใครได้ฟัง ก็มักคิดไปต่างๆนานา คุณแดงคิดว่า มันเป็นรายได้ของรัฐบาล ที่ได้โดยการเก็บภาษีเข้าคลังไป คุณเขียวว่า มันเป็นเงินที่หมุนเวียนในตลาด คุณเหลืองว่า เป็นเงินที่ไหลเข้าประเทศโดยการค้าขาย ที่ว่ามานี้ก็ไม่มีใครถูกสักคน

บางทีอะไรในโลกนี้มันก็บังเอิญสุดยอดได้เหมือนกัน เต้าส่วนในชามที่เหมือนขี้มูก กำลังถูกลำเลียงโดยช้อนเล็กเพื่อจะเดินทางเข้าปากท่านนายกโทโส ถูกจิ้งจกทะเล้นขี้รดมาจากเพดานใส่ลงในช้อนพอดิบพอดี ความไ ม่แน่นอน คาดไม่ได้ เป็นสัจธรรมที่ท่านโทโสควรเรียนรู้มากกว่านี้ ถูกแล้ว ไม่มีใครรู้ทุกอย่างในโลกได้หมด คำพูดที่ท่านโทโสมักกล่าวโดยไม่ต้องคิดว่า “ผมรู้ดีแล้ว ไม่ต้องบอก” มันไม่ถูกเสียแล้วละ วันนี้ท่านโทโสก็มีเรื่องต้องรู้อีก ไม่มีใครดีไปกว่าคุณสมคบที่จะแนะนำเรื่องเศรษฐกิจได้

“คุณสมคบ … ผมอยากทราบคำว่า รายได้ประชาชาติผมยังไม่เข้าใจ ผมรู้แต่จีดีพี “

“ ได้เลย ท่าน ที่จริงท่านทราบคำว่าจีเอ็นพีแล้ว สำหรับคำว่า รายได้ประชาชาติ ฝรั่งเรียกว่า National Income หมายถึงรายได้ของคนไทยทุกคนรวมกัน อย่างเช่น ในรอบปี พ.ศ. 4700 ทั้งปีนะ ท่านโทโสมีรายได้จากกำไรจากโทรจิตมือถือ 100,000,000,000 บาท กระผมมีรายได้จากค่าเช่า 5,000 บาท ตาเฉอะ มีรายได้จากค่าจ้าง 55 บาท ยายฝุบ มีรายได้จากดอกเบี้ย 40 บาท ลุงกระด้งมีรายได้จากกำไร 5 บาท สมมุติว่าประเทศไทย มี 5คนนะ รวมแล้วประเทศไทยของท่าน ของกระผม และของทุกๆคนก็มีรายได้ 100,000,005,100 บาท ผมบวกถูกไหม?”

ท่านโทโสคิดตาม แต่ก็ไม่แน่ใจ “ไม่ทราบ ผมต้องใช้อุปกรณ์ไอที คิดในใจไม่เป็น”

“ไหนๆท่านก็เชื่อผมมามากแล้ว ก็เชื่ออีกสักหน่อยเถอะ สมมุติว่าถูกก็แล้วกันนะ” สมคบนึกต่อไปว่าจะพูดอะไรดี เมื่อนึกออกก็พูดต่อ “ ทางเศรษฐศาสตร์แบ่งรายได้ออกเป็น 4อย่าง คือ ค่าจ้าง (wage) ค่าเช่า (rent) ดอกเบี้ย (interest) และ กำไร (profit) นี่เป็นตำราทั่วไปนะ บางตำราก็แบ่งย่อยออกไปอีก”

“แล้วรายได้แต่ละอย่าง เกิดจากคนพวกไหนล่ะ”

ยังงี้ครับท่าน คนที่รับจ้าง ได้ค่าจ้างเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี เป็นชั่วโมง เป็นชิ้นงาน โดยไม่ต้องรับภาระขาดทุนหรือกำไร ก็ถือว่าได้รายได้เป็นค่าจ้าง อย่างท่านนายกนี่ ก็ได้เงินเดือนเป็นค่าจ้าง ไม่เกี่ยวกับกำไรขาดทุน ประเทศชาติจะร่ำรวยหรือพินาศ ท่านก็ไม่ต้องขาดทุน และก็ไม่มีกำไร“

“ก็ผมต้องลงทุนนะตอนเลือกตั้ง มีแต่มือเปล่ากับลิ้นสองนิ้ว จะเป็นนายกได้หรือเปล่า”

“งานนายกไม่ใช่งานธุรกิจนะครับ เวลาบริหารประเทศอย่าทำตัวเป็นนักธุรกิจ บางเรื่องอาจนำวิธีการธุรกิจมาใช้ได้ แต่จะเอาวิญญาณพ่อค้ามาใช้ไม่ได้ทุกเรื่อง เช่น อย่าคิดว่าขายรัฐวิสาหกิจให้หมดได้กำไรดี อย่าเอาพ่อค้ามานั่งคุมผู้ว่าราชการจังหวัด อย่าคิดว่าเงินทองรายได้จากขายไก่สำคัญกว่าชีวิตคน อย่ามองข้าราชการหรือครูอาจารย์เป็นเหมือนกุลีแบกหามที่จะจ้างใครมาแบกแทนกันก็ได้ มันต้องมีการฝึกฝนให้มีประสพการณ์ เรื่องคอมพิวเตอร์ก็เหมือนกัน มันแทนคนไม่ได้นะ เพียงแต่ทำให้เร็วขึ้นเท่านั้น มันตัดสินใจแทนคนไม่ได้นะท่าน ถ้าคอมพิวเตอร์คิดแทนคนได้ เราก็เอาคอมพิวเตอร์เป็นนายกรัฐมนตรีไปเลย แล้วท่านก็เลื่อนไปเป็นรัฐมนโท ”

“เอาละ เอาละ ผมจะหัดฟังคุณ เฉพาะคุณคนเดียวนะ ว่าต่อไป”

“คนที่ให้เช่าที่ดิน ก็มีรายได้เป็นค่าเช่า คนที่หากินทางออกดอกให้กู้ ก็ได้รายได้จากดอกเบี้ย คนที่ทำธุรกิจอย่างท่าน ก็ได้กำไร คนที่เป็นลูกจ้าง ก็ได้รายได้จากค่าจ้าง”

“อ้าว! เมื่อกี้คุณบอกว่าผมได้ค่าจ้าง ผมเป็นลูกจ้าง ที่นี้มาว่าผมเป็นนักธุรกิจได้กำไร มันจะถูกได้ยังไง” ท่านโทโสชักสงสัย

“คนเดียวเป็นได้หลายอย่าง ไม่มีปัญหา เพราะคนหนึ่งมีรายได้หลายทางได้ ทำไมล่ะ บางคนนะ …” สมคบชำเลืองมองท่านโทโสด้วยหางตายียวน แล้วสะบัดสำนวนต่อ “บางคนนะ บางครั้งก็น่ากราบไหว้บูชา บางครั้งก็น่าฝังกลบไปพร้อมกับไก่เป็นหวัด”

ท่านโทโสพยักหน้ารับ “คนขี่สามล้อรับจ้าง ได้รายได้เป็นค่าแรงใช่ไหม? คุณสมคบ”

“ไม่หรอก แม้เขาจะใช้แรงงาน แต่เขาก็เป็นผู้ประกอบการ เป็นนักธุรกิจน้อยๆนะ เขาเสี่ยงต่อกำไรขาดทุน บางวันปั่นแทบตาย ได้ไม่พอค่าเช่าต้องขาดทุน ถ้ารับสภาพกำไรขาดทุน ถือว่าเป็นผู้ประกอบการ ปกติก็มีกำไร คราวซวยก็ได้ขาดทุนเป็นรางวัล”

“ชาวนาล่ะ คุณสมคบ”

“ชาวนาก็เป็นผู้ประกอบการ มีกำไรเป็นรายได้ของเขา คนให้เช่ารถแท็กซี่ ต้องมีการลงทุน ได้ค่าเช่ามา หักที่ลงทุน ก็ถือว่าเป็นกำไร ไม่ถือเป็นค่าเช่า แม้เรียกว่าได้ค่าเช่า ความจริงเขาได้กำไรนะ เขาเป็นผู้ประกอบการ หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว เขาก็ได้กำไร ส่วนคนขับรถแท็กซี่ ก็เหมือนคนขี่สามล้อ เขาเป็นผู้ประกอบการ เงินที่ได้นำกลับบ้าน เป็นกำไร”

“แล้วเวลาคิดเป็นรายได้ประชาชาติทำอย่างไร?”

“ง่ายนิดเดียว ก็เอารายได้ของคนทุกคนรวมกัน ไม่ว่าจะได้รายได้เป็นค่าจ้าง ค่าเช่า ดอกเบี้ย หรือ กำไร รวมได้เท่าไร เท่านั้นก็เป็นรายได้ประชาชาติ ภาษาฝรั่งเรียกว่า national income ย่อๆว่า NI ดูตัวอย่างที่ยกมาแล้ว ในรอบปี พ.ศ. 4700 ทั้งปี ท่านโทโสมีรายได้เป็นกำไรจากโทรจิตมือถือ 100,000,000,000 บาท กระผมมีรายได้จากค่าเช่า 5,000 บาท ตาเชอะ มีรายได้จากค่าจ้าง 55 บาท ยายฝุบ มีรายได้จากดอกเบี้ย 40 บาท ลุงกระด้งมีรายได้จากกำไร 5 บาท สมมุติว่าประเทศไทย มี 5คนนะ รวมแล้วประเทศไทยของท่าน ของกระผม และของทุกๆคนก็มีรายได้ประชาชาติ 100,000,005,100 บาท”

“ตกลงรายได้ประชาชาติเป็นรายได้ของใคร?”

“เป็นรายได้ของคนไทยทุกคนในชาติรวมกัน คนที่ไม่ใช่คนไทยไม่เกี่ยว ไม่ต้องนับรวม”

 

ค่าใช้จ่ายรวมในตลาด

(AGGREGATE EXPENDITURE)

เรื่องราวเกี่ยวกับมูลค่าการผลิตและรายได้ประชาชาตินั้น ยังมีมุมมองอีกทางหนึ่ง คือ มองทางด้านรายจ่าย มองว่าในประเทศนั้นมีการใช้จ่ายรวมทั้งหมดเท่าไร ซึ่งก็จะสะท้อนไปถึงรายได้ เข้าทำนองเมื่อมีคนจ่าย ก็ต้องมีคนได้รับ แต่วิธีการคิดจะไม่เหมือนกับที่เราคิดว่ามันน่าจะเป็น

สมคบอธิบายถึง ค่าใช้จ่ายรวมในตลาด ประกอบด้วย :

C ค่าใช้จ่ายบริโภค

I ค่าใช้จ่ายลงทุน

G ค่าใช้จ่ายของรัฐบาล และ

X ค่าใช้จ่ายที่คนต่างประเทศซื้อสินค้าและบริการจากประเทศไทย

นำมารวมกันเข้า สี่รายการนี้ แล้วลบด้วย

M ค่าใช้จ่ายที่คนในประเทศไทยซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศ

ก็จะได้เป็น ค่าใช้จ่ายรวมในตลาด เขียนเป็นสูตรว่า

ค่าใช้จ่ายรวมในตลาด = C + I + G + X - M

สมคบอธิบายให้โทโสเข้าใจว่า

“ค่าใช้จ่ายห้าตัวที่บวกลบกันข้างบนนี้ คือ ค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้สินค้าและบริการที่ผลิตได้ในประเทศ (GDP) จึงใช้เป็นค่าวัดมูลค่าสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศ (GDP)ไปเลย”

โทโสถามว่า “แล้วมันเท่ากับจีดีพีพอดีไหม?”

“ที่จริงก็ไม่เท่ากันหรอก เพราะยังมีสินค้าที่ผลิตได้แต่ยังไม่ได้ขายอีก และสินค้าบางอย่างก็ผลิตไว้ใช้เอง มันไม่เป็นเงิน ก็เลยไม่ได้นับ”

“ไม่ดีนะ สินค้าที่ไม่ได้ขาย มันก็เป็นผลผลิต น่าจะนับ”

“ ฝรั่งก็ยังงี้แหละ อะไรที่ไม่ใช่เงิน ก็ไม่สนใจ ตีค่าเป็นเงินไปหมด นี่พวกนักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งนะ นักอื่นๆคงไม่เป็นอย่างนี้”

“แล้วเราไม่เอาอย่างไม่ได้หรือ?”

“ไม่ได้ครับ ประเดี๋ยวฝรั่งจะดุเอา”

 

รายได้ต่อหัว จีดีพีต่อหัว จีเอ็นพีต่อหัว

(INCOME PER CAPITA, GDP PER CAPITA, AND GNP PER CAPITA)

หลังจากน้องไก่หายหวัดดีแล้ว ท่านนายกโทโสก็สนใจเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์กับท่านสมคบต่อ

“ คุณสมคบ เมื่อวานมีคนเขียนให้ผมปราศัย มีคำว่า รายได้ต่อหัว เขียนเป็นภาษาฝรั่งว่า income per capita มันคืออะไรกัน เออแล้วทำไม per capita ถึงไม่เขียนติดกัน”

“ครับ… ท่าน per capita ก็แปลว่า ต่อหัว รายได้ต่อหัว คือ เอารายได้ประชาชาติตั้ง หารด้วยจำนวนหัวคนไทย คือนับว่าคนไทยทั้งหมดมีกี่หัว ที่ไม่มีหัวไม่ต้องนับ แล้วเอาไปหารรายได้ประชาชาติ อย่างตัวอย่างวันก่อน รายได้ของประเทศเรา 100,000,005,100 บาท มีคน 5คน ก็ 5หัว คำนวณดังนี้ 100,000,005,100 หารด้วย 5 เท่ากับ 20,000,001,020 บาท แปลว่าเฉลี่ยแล้ว คนไทยมีรายได้ประชาชาติเฉลี่ยเท่ากับ 20,000,001,020 บาท ต่อปี โอ้โฮ้!!! รวยจังเลย คนไทยรวยกระอักเลือดเลย”

“แล้วตัวเลขรายได้ต่อหัวนี้ บอกอะไรได้บ้าง เช่น บอกว่าคนไทยรวยจนอย่างไร? บอกได้ไหม?”

“ ตำราเขาบอกว่า จะได้รู้ว่า คนไทยรวยหรือจนแค่ไหน แต่กระผมคิดว่า มันบอกอะไรไม่ได้เลย บอกได้แต่ว่า คนไทยมีหัว ดูซิรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศเราห้าคนตั้ง 20,000,001,020 บาท ดูซิ ตาเฉอะ มีรายได้จากค่าจ้าง 55 บาท ยายฝุบ มีรายได้จากดอกเบี้ย 40 บาท ลุงกระด้งมีรายได้จากกำไร 5 บาท มันห่างไกลจาก 2หมื่นล้านมากเหลือเกิน ที่ตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อหัวมันสูงมากก็เพราะรายได้ของท่านนายกโทโสมากมายเหลือเกิน พอบวกเข้ามาแล้วเฉลี่ย เลยดูรวยกันหมด ทั้งที่จนกรอบอยู่อย่างนี้เกือบทุกคน ผมถึงว่าตัวเลขเฉลี่ยต่อหัว ไม่มีความหมายอะไรเลย”

“รัฐบาลเอาไว้หลอกประชาชนได้ รัฐบาลเราเปล่านะ รัฐบาลเก่าๆน่ะ”

“กรณีของประเทศไทย คิดคร่าวๆนะครับ รายได้ประชาชาติของไทยประมาณ 4,000,000,000 ล้านบาท คนไทยมีจำนวนประมาณ 63 ล้านคน เอา 63ล้านนี้ มาหารรายได้ประชาชาติ ได้รายได้เฉลี่ยต่อหัวเท่ากับประมาณ 63,500 บาทต่อปี หรือประมาณ 5,300 บาทต่อเดือน คนไทยครอบครัวหนึ่งมี 4หัวโดยเฉลี่ย ฉะนั้นคนไทยครอบครัวหนึ่งมีรายได้ประมาณ 21,200 บาท ต่อเดือน ถ้าอยู่ในชนบทรวยตายเลย อย่างไรก็ตามสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2543 ทราบว่า รายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวต่อเดือนเท่ากับ 12,150 บาท ไม่ทราบว่าจะเชื่อใครดี แต่ถ้าเอาคนจนที่สุดยืนอยู่หัวแถวสุด แล้วคนจนถัดไปก็ต่อแถวไปเรื่อยๆ จนถึงคนที่รวยที่สุดในประเทศไทยอยู่ท้ายแถวสุด รวม 63ล้านคน ถามคนที่ยืนตำแหน่งที่ 31ล้าน 5แสน คือคนยืนกลางเป๊ะพอดี ถามว่ารายได้คุณปีนี้เท่าไหร่ คำตอบที่ได้คือ 2,200 บาทต่อเดือน ห่างจากค่าเฉลี่ยมาก 12,150บาท กับ 2,200 บาท ผิดกัน 6เท่าตัว ทั้งนี้ก็เพราะคนจำนวนน้อยร่ำรวยมีรายได้มากมหาศาล แต่คนส่วนใหญ่ยากจนมาก หาค่าเฉลี่ยจึงได้สูง เพราะว่าเอาเงินแยะๆมหาศาลของคนรวยมาเฉลี่ยร่วมกับเงินน้อยๆของคนจน เฉลี่ยแล้วได้ค่ามาก เราก็ดีใจ แต่ถ้าใช้ค่าตรงกลาง (median ภาษาสถิติว่า มัธยฐาน คือค่าตรงกลางจากการเรียงมากไปน้อยหรือน้อยไปมากก็ได้) จะเป็นเลขแสดงภาพที่แท้จริงมากกว่า ผมจะถือว่า คนไทยมีรายได้ครอบครัวละ 2,200 บาทต่อเดือน”

ท่านโทโสยกมือขึ้นห้ามให้หยุดพูด “พอแล้ว… หยุดก่อน ฟังไม่ทัน คนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 12,150 บาทต่อเดือน ถ้าคิดรายได้คนอยู่ตรงกลาง ได้ 2,200 บาทต่อเดือน เออดีนะ… เราพูดถึงรายได้ตรงกลางหรือมัธยฐานดีกว่า มันไม่ลวงตา เป็นตัวเลขที่แสดงสภาพที่แท้จริงของคนไทยดีกว่ารายได้เฉลี่ย อ้าว! แล้วทำไมเราไม่แสดงรายได้ตรงกลางล่ะ เราพูดถึงรายได้เฉลี่ยต่อหัวกันทำไม ไม่เห็นเข้าท่าเลย ฟังแล้วไม่ได้สภาพเป็นจริงของประชาชน”

“ ฝรั่งเขาไม่ใช้กัน เ ราเลยไม่กล้าใช้ เดี๋ยวเขาจะว่าไม่ทำตามพ่อ เหมือนคนพูดไทยปนฝรั่งมากจนเกินงามแหละครับ ถ้าไม่พูดฝรั่งบ้าง เขาจะไม่รู้ว่าฉลาด คนฟังรำคาญจะตาย ฝรั่งก็ฟังไม่ออก ไทยก็ฟังไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าพูดให้คนหรือผีฟัง อยากพูดฝรั่งก็พูดไปเลย อย่ามาปนไทย” สมคบพูดแขวะใครคนหนึ่ง

ท่านโทโสไม่ว่าอะไร ถามว่า “ยังมีอะไรต่อหัวอีกไหม?”

“มีซิท่าน เอาจีดีพีตั้งหารด้วยจำนวนคนไทยทั้งประเทศ ก็เป็น GDP percapita เอาจีเอ็นพีตั้ง หารด้วยจำนวนคนทั้งประเทศ ก็เป็น GNP per capita เอารายได้ประชาชาติตั้ง หารด้วยจำนวนคนไทยทั้งประเทศ ก็เป็นรายได้เฉลี่ยต่อหัว NI percapita”

“คุณเขียน percapita ก็มี per capita ก็มี ตัวไหนถูกกันแน่?”

“ถูกทั้งสองอย่าง คนอังกฤษเขียน per capita คนอเมริกาเขียน percapita ”

“คนอเมริกัน ไม่ใช่คนอเมริกา เรียกให้ถูกๆหน่อย”

“คนอเมริกา ก็ถูกแล้วท่าน ถ้าเอาอย่างท่านว่า ผมก็ต้องเรียกพม่าว่าพะมีส เรียกคนฝรั่งเศษว่า คนเฟร้นช์ เรียกจีนว่า จีนนีส ไม่เข้าท่าเลย ผมว่าของผมถูกแล้ว”

 

การไปมาหาสู่ระหว่าง จีดีพี จีเอ็นพี รายได้ประชาชาติ รายจ่ายรวม

หลังจากท่านโทโสกินไก่โชว์แล้ว ปรากฏว่าไก่พากันกลั้นใจตายหมดประเทศ การกินไก่ทำให้ท่านมีกำลังยิ่งขึ้น อยากทำโน่นทำนี่ ท่านจึงฟิตขึ้นมาอยากทราบว่า จีดีพี จีเอ็นพี รายได้ประชาชาติ รายจ่ายรวม มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ท่านขอให้คุณสมคบอธิบายให้ฟัง

คุณสมคบก็รับบทเป็นครู “ได้ครับท่าน คือ มันไปมาหาสู่กันได้นะครับ เหมือนคนรู้จักกัน”

“ช่วยเขียนเป็นไดอะแกรมให้ดูหน่อยซิ”

“ได้ครับ ท่าน”

สมคบเขียนไดอะแกรมลงกระดาษพักใหญ่ เสร็จแล้วยื่นให้ท่านโทโสดู แล้วอธิบายว่า

“ค่าใช้จ่ายรวมในตลาด ที่เอา C บวก I บวก G บวก X แล้วลบด้วย M ก็เท่ากับ GDP

แล้ว GDP นี้ เมื่อเอาภาษีทางอ้อมลบ เอาค่าเสื่อมของเครื่องมือการผลิตลบ ก็เหลือเป็น รายได้ประชาชาติ ฝรั่งว่า National Income (NI) ”

“แล้วอีกภาพหนึ่งล่ะ”

“กำลังจะพูดอยู่ อย่าใจร้อนซิท่าน โลกนี้จะทำอะไรมันก็กินเวลาทั้งนั้น จาก GDP เอามูลค่าการผลิตของคนไทยในต่างประเทศบวกเข้าไปอีก “

“บวกแล้วเป็นอะไร?”

“ก็ไม่เป็นอะไร ”

“ไม่เป็นอะไร แล้วบวกเข้าไปทำไม?”

“ วุ้ย ! ก็ยังไม่เสร็จ บวกได้เท่าไรจดเอาไว้ แล้วลบด้วยมูลค่าการผลิตของคนต่างประเทศที่ผลิตในประเทศไทย คราวนี้ก็เป็น GNP”

“แล้ว GNPทำเป็นรายได้ประชาชาติได้อย่างไร?”

“อ้าว ! ก็เอาค่า GDP ไปทำซิ จาก GDP ทำเป็นรายได้ประชาชาติได้ โง่ทำไม ผมบอกแล้วไง เพิ่งพูดจบหยกๆ ท่านไม่รู้จักจำเลย”

“อีกเรื่องนะ ผมกระหายที่จะพูดอะไรเป็นไทยๆบ้าง GDP และ GNP แปลเป็นไทยว่ายังไงนะ? ”

“ GDP แปลเป็นภาษาไทยว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ GNP แปลเป็นภาษาไทยว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ พูดยากจัง ผมเองก็พูดไทยไม่ค่อยซักเหมืองกัง”

 

หาตัวเลขข้อมูลมาได้อย่างไรกัน

บ่ายวันนี้ท่านปักษีสลาย รมต.ว่าการกระทรวงเกษตร เข้ามารายงานว่า ไก่ในประเทศไทยเป็นหวัดตายไป 15,500,697,500 ตัว นกที่บินในอากาศเป็นหวัด 658,780,600 ตัว ตกลงมาตาย 654,754 ตัว ทำให้ท่านนายกโทโสสงสัยว่า ท่านปักษีสลายหาข้อมูลไก่เป็นหวัดได้อย่างไร จึงถามท่านปักษีสลาย และ ท่านสมคบว่า ได้ตัวเลขเหล่านี้มาอย่างไร

ท่านปักษีสลายตอบว่า “ผมจะไปรู้เรอะ! ผมไม่ใช่ไก่นี่ครับ ลูกน้องเขารายงานมา ผมก็รายงานไป ถ้าไม่มีใครรายงาน ผมก็บอกว่า ยังไม่ได้รับรายงาน”

“แล้วข้อมูลจีดีพี จีเอ็นพี รายได้ประชาชาติของคุณล่ะ ได้มาอย่างไร ท่านสมคบ” นายกโทโสหันมาถามรองนายกคู่ใจ

“ ประมาณเอาด้วยวิธีสถิติเบื้องต้นครับท่าน” สมคบตอบ

“แล้วมันถูกต้องไหม?”

“ก็ดีกว่าอยู่เปล่าๆครับท่าน ขนาดรายได้ของผมเอง ผมยังตอบไม่ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ พวกกินเงินเดือนอย่างเดียวเท่านั้นที่ตอบถูกต้อง แม่ค้าพ่อค้า ชาวนาชาวไร่ ไม่รู้รายได้ที่แท้จริงของตัวเอง”

“เมื่อไม่รู้แล้วทำอย่างไร? ให้รู้ได้ในเจ็ดวันได้ไหม?” ท่านโทโสถามตามแบบฉบับนายกเอาให้ได้ดังใจ

“เขาก็ไม่ได้ยกเมฆนะ เขาสุ่มสำรวจจากครอบครัวบ้าง จากรายการเสียภาษีที่สรรพากรบ้าง แล้วก็กะๆเอา ภาษาวิชาการก็ว่า ประมาณเอา ถ้าไม่ทำอย่างนี้ก็หมดปัญญา”

“แล้วแม่ค้าหาบเร่แผงลอยล่ะ สำรวจเขาบ้างหรือเปล่า ”

“ตอนนี้เรายังไม่ได้คิดรายได้ของพวกขายของตามหาบเร่แผงลอย ขายยาบ้า พ่อเล้า โสเภณี คนขายหวยเถื่อน ซึ่งก็มีรายได้อีกมาก ทำให้ตัวเลขรายได้ประชาชาติของเราน้อยกว่าที่ควรจะเป็น”

“ยังงั้นผมขอสั่งเลยนะ คุณให้เขาสำรวจเข้ามาอยู่ในระบบเลย”

“มีเยอะนะท่าน จะไหวหรือ ท่านจะสำรวจมาทำไม?”

“เพื่อจะได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำลายความยากจนให้หมดไปภายในหกปี”

“หกปีชาตินี้หรือชาติหน้าครับ”

“ชาติหน้าซิคุณ แหม!!! ไม่น่าโง่เลย”

                                                           ดร. บุญเสริม บุญเจริญผล

                                                                                            30 มกราคม ????




ความคิดเห็นของคุณกับบทความนี้ ...

 

user_icon

Knowledge Center
knowledge center
knowledge

star

20 ไอเดียลดความอ้วนแบบง่ายๆ
 
เรื่องน่ารู้ตามหมวดหมู่
• การแพทย์
• ความรู้ทั่วไป
• เรื่องของผู้หญิง
• กีฬา
• ข่าวและสื่อ

และอื่น ๆ อีกมาก

  ค้นหาเรื่องที่คุณสนใจ
ระบุ keyword
 
True vision

TV Icon

TV Interview

หลากเรื่องราวทางธุรกิจ แง่มุมของผู้บริหาร จากบริษัทชั้นนำต่างๆ

dot
HR Corner
สัมภาษณ์คัดเลือกผู้สมัครงานอย่างไร? ให้ตรงสเป็ค
https://www.jobpub.com/new_images/play.gif
 
The Seeds of Innovation นวัตกรรมใหม่แห่งการพัฒนาบุคลากร
https://www.jobpub.com/new_images/play.gif
 
การสร้างความแตกต่าง ให้เหนือคู่แข่ง
คุณมกร พฤฒิโฆสิต
https://www.jobpub.com/new_images/play.gif
dot

https://www.jobpub.com/new_images/playall_b.gif

 

หางานบ่อย : แหลมฉบัง วุติ ม.6 ลาดพร้าว104 programmer ava j วิศวกรโทรคมนาคม ธุรการ สุวรรณภูมิ pc portland บริการเสริฟ หางานวุฒิป.ตรีนิคมบางพลี จุลชีวะวิทยา ผ้สมัครงาน บัญชี ้เสมียน หางานจังหวัดสุโขทัย เร่งรัดหนี้สิน เทเลวิส 999888 เคหะบางพลี สมัครงานวุติม6 Project manager ภูเก็ต พนักงานคลังสินค้า วุฒิม.6 บริษัท canon QA ธุรการ วงเวียนใหญ่ โรงพยาบาลเมโย งานพิเศษแจกใบปลิว QA, QC โรงงาน ที่พักฟรี ม. 3 spk auto งานในห้างเซ็ลทรัลพระราม2 ไฟฟ้า งาน ตำแหน่งงาน ที่ตั้ง วัจัย แคดแคม แถวสาทร ม.3 สมัครงานระดับวุฒิ ปวส พระโขนง แปลภาษา,ล่าม แม่บ้าน,พี่เลี้ยงเด็ก คิว.ซี ม.3 ราชการ ช่างcnc ชลบุรี เขตบางพะ ประจำคลีนิคเสริมความ พนักงานขายซิม researcher ฝ่ายบุคคลรามคำแหง งานธนาคารราม1 ธุรการ เขตพระโขนง บริษัทกำจัดปลวก ยิบซี กรุป keyaccount วุฒิ ม.6โคราช พุนพิน sale ขายรถยน รถ